ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายวิชาชีพกายภาพบำบัดว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดหรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยคำแนะนำของคณะกรรมการให้เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์กายภาพบำบัด
ส่วนสมาพันธ์กายภาพบำบัดโลก (World Confederation for Physical Therapy: WCPT) ได้กล่าวถึงกายภาพบำบัดว่าเป็นการบริการให้กับบุคคลหรือกลุ่มคนโดยนักกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนา หรือรักษาสภาพ หรือฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุดตลอดช่วงอายุขัย การบริการให้กับคนที่มีความบกพร่องของการเคลื่อนไหวที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ, การบาดเจ็บ, ความเจ็บปวด, โรค, ความบกพร่องของร่างกาย, และ/หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องมีความเข้าใจในการเคลื่อนไหวแบบปกติของมนุษย์และยังต้องเข้าใจความสัมพันธ์วงจรการส่งเสริมสุขภาพ - การป้องกัน - การรักษา - การฟื้นฟู ซึ่งถูกห้อมล้อมของวงจรความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย - จิตใจ - อารมณ์ - สังคม รวมกันส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขให้มากที่สุด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ นักกายภาพบำบัดต้องร่วมมือทำงานกับอีกหลายๆฝ่ายได้แก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ครอบครัว ผู้ดูแล บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ และบุคคลต่างๆที่ผู้ป่วยพามาเกี่ยวข้อง
บางคนอ่านแล้วก็จะยังเห็นภาพวิชาชีพกายภาพบำบัดไม่ชัด ไม่ต้องกังวลครับเพราะแม้แต่นักกายภาพบำบัดอีกหลายคนยังนิยามตัวเองไม่ชัดรวมทั้งตัวผมด้วย 😅 แต่คำสำคัญที่ทั้ง พรบ และ WCPT ได้ระบุไว้เหมือนกันคือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ
ดังนั้นน่าจะเปรียบเทียบได้ว่านักกายภาพบำบัดคือนักพัฒนาและป้องกันการเคลื่อนไหวบกพร่องจากความเสื่อมตามอายุ, การบาดเจ็บ, ความเจ็บปวด, โรค, ความบกพร่องของร่างกาย, และ/หรือสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงกายภาพบำบัด
เส้นทางการเป็นนักกายภาพบำบัดจะต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ เราจะต้องใช้วิชาชีววิทยา เคมี คณิตศาสต์ ภาษาอังกฤษ และฟิสิกส์ แต่ละวิชาถือว่าเป็นพื้นฐานที่เราจะได้นำไปใช้จริงๆในชีวิตนักกายภาพบำบัดเช่น คำศัพท์เกือบ 100% ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาลาตินก็ตามรวมไปถึงบทความทางวิชาการต่างๆมักเป็นภาษาอังกฤษ วิชาชีววิทยาและเคมีมักใช้ร่วมกันเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าในกล้ามเนื้อในกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ และวิชาฟิสิกส์เช่นในเรื่องของ office syndrome
|
ลักษณะท่าทางกิจกรรมต่างๆต้องอาศัยวิชาฟิสิกส์เช่นเรื่องคาน |
การเรียนหลักสูตรปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขากายภาพบำบัดใช้เวลา 4 ปี เป็นเวลา 4 ปีที่ทรมานบวกบันเทิง เราสนุกกับการใช้ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่ก็ทรมานกับเนื้อหาใหม่ๆที่ไม่คุ้นชิน แต่เชื่อเถอะครับว่าพอเราใช้ทฤษฎีต่างๆซ้ำบ่อยๆคือใช้ไปและทบทวนไปทั้งตอนเรียนและทำงานเดี๋ยวมันก็กลายเป็นความสนุกแทนความทรมานไปเอง ความเข้มงวดของอาจารย์ทั้งหลายไปจนถึงอาจารย์ที่ควบคุมการฝึกงานนอกสถานที่มักทำให้เราหงุดหงิดใจจนถอดใจไม่อยากเป็นนักกายภาพแล้วบ่อยๆ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและใบประกอบวิชาชีพของเรา เขาก็ต้องสมบทบาทนั้น หลังจากเรียนจบได้เป็นนักกายภาพบำบัดแล้วการปฏิบัติต่อกันจะเปลี่ยนไปอย่างที่เรานึกภาพไม่ออกเลยแหละ
การฝึกงานนอกสถานที่ถือว่าเป็นการเปิดโลกให้กับนักศึกษาในหลายๆมิติไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี การทำงาน การตื่น การนอน ความเชื่อ การเดินทาง ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เนต แดด ฝน ลม ฝุ่นควัน การใช้เวลาในแต่ละวัน ฯลฯ ในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ใครที่อยากลองไปในจังหวัดหรืออำเภอที่ไม่เคยไปก็ต้องรีบถือโอกาสนี้เจรจากับเพื่อนๆในห้องเพื่อขอจับจองสถานที่ฝึกงาน การไปฝึกงานบางแห่งก็มีที่พักให้แต่บางที่ก็ต้องจ่ายค่าหอพักเอง และที่แน่ๆคือค่าเดินทางท่องเที่ยวบริเวณนั้น สำหรับตัวผมเองประทับใจโรงพยาบาลชลบุรีมากที่สุดเพราะในช่วงเวลานั้นอากาศยังดีมากไม่มีฝุ่น PM 2.5 แบบสมัยนี้เลย ตกเย็นมากก็มีคนเล่นบอลใกล้ๆบ้านพักซึ่งเราได้บ้านพักในโรงพยาบาล วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไปเที่ยวในตัวตลาดบ้าง บางแสนบ้าง พัทยาบ้าง เข้ากรุงเทพก็ไม่ได้ลำบากอะไร เคยคิดขนาดว่าจะหางานทำในชลบุรีน่าจะดี
หลังจากเรียนจบ 4 ปีแล้วก็ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นใบอนุญาตให้เราประกอบอาชีพนี้ได้เปรียบเสมือนใบอนุญาตให้รักษาคนไข้ได้ หากจะไปประกอบอาชีพนี้ในประเทศใดก็ต้องสอบของประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้ทั่วโลกได้
การศึกษาเรียนรู้ไม่ได้จบเพียง 4 ปีนั้น เรายังต้องไปอบรมหลักสูตรระยะสั้นกันบ่อยๆด้วยเพื่อทบทวนและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้หลักสูตรกายภาพบำบัดยังขยายไปถึงปริญญาเอกมานานแล้วด้วย ใครชอบสายวิชาการหรืออยากเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยก็เดินทางสายปริญญาโทและเอกซึ่งจะเน้นไปทางการอ่านตำรา บทความวิชาการและวิธีทำการวิจัยในรูปแบบต่างๆ จะทำให้เก่งเรื่องการทำการวิจัย หรือจะไปต่อปริญญาโทหรือเอกสาขาอื่นๆก็เปิดกว้างได้อีกหลายสาขา
|
ภาพจากการอบรม Rugby World level 1 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ |
|
ภาพจากการอบรมนักกายภาพบำบัดทางการกีฬาโดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียที่ประเทศการ์ต้า |
|
ภาพจากการอบรมการจัดดัดกระดูก |
|
ภาพจากการอบรมการจัดดัดกระดูก |
ตอนนี้ในประเทศไทยได้แบ่งคนไข้กายภาพบำบัดออกเป็น 5 ประเภทได้แก่ (1) ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (2) ระบบประสาท (สมองและไขสันหลัง) (3) เด็ก (4) ทรวงอก (ระบบการหายใจ) และน้องใหม่ (5) กีฬา บางครั้งในผู้ป่วย 1 คนอาจจะได้รับการดูแลมากกว่า 1 ประเภทเช่นผู้ป่วยอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนจนบาดเจ็บที่ไขสันหลังระดับคอโดยหลักการแล้วจะได้รับการดูแลเป็นผู้ป่วยประเภทระบบประสาทซึ่งทำการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและฝึกการใช้ชีวิตด้วยกล้ามเนื้อที่เหลือเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องฝึกให้ระบบการหายใจทำงานได้ดีด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอในการทำกิจวัตรประจำวันและไม่ให้มีเสมหะคั่งค้าง เท่านั้นยังไม่พออาจจะต้องดูแลระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่สามารถเกิดการบาดเจ็บได้จากการใช้งานมากเกินไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวจากอีกมากมายหลายกรณีและหลายโรคที่จำเป็นต้องใช้นักกายภาพบำบัดเข้ามาดูแลสุขภาพ |
ภาพการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (งานภาคแผนก) |
|
ภาพการรักษาในขณะเเข่งขันฟุตบอล (งานภาคสนาม) |
ศาสตร์กายภาพบำบัดสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องดูแลสุขภาพให้กับคนได้ทุกเพศทุกวัย อายุตั้งแต่แรกเกิดจนไปถึงก่อนเสียชีวิต เช่นกรณีเด็ก 5 ขวบ ที่มีเท้าแบนแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวดหรือการเดินที่ผิดปกติใดๆและแพทย์ยังให้รอสังเกตอาการไปอีกสัก 1-2ปีไปก่อน สามารถที่มาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจและรับข้อมูลในการดูแลเท้าไปดูแลตัวเองที่บ้านในช่วงที่สังเกตอาการไปด้วยก็ได้ ในกรณีนี้จะเห็นว่าผู้ปกครองหรือผู้ป่วยพบอาการผิดปกติก่อนแล้วไปพบหมอแล้วค่อยมาหานักกายภาพบำบัดด้วยก็ได้ อีกกรณีนึงเช่นบุคคลที่ทำงานกับคอมมากๆแต่ยังไม่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบ office syndrome ก็สามารถมาพบนักกายภาพบำบัดโดยตรงเพื่อตรวจและรับข้อมูลการป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงในการเกิด office syndrome ได้เลยไม่ต้องไปแพทย์ก่อน อีกกรณีนึงเช่นนักฟุตบอลผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า หลังจากตัดไหมแล้วแพทย์มักจะส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดดูแลภายใต้ขั้นตอนการฟื้นฟูมาตราฐาน แพทย์กับนักกายภาพบำบัดจะทำการส่งข้อมูลให้กันเพื่อความก้าวหน้าของนักฟุตบอลคนนี้ตลอดเวลาจนแข็งแรงพอที่จะกลับไปซ้อมกับทีมได้
ดังนั้นในกรณีที่นักกายภาพบำบัดได้ดูแลคนที่มีสุขภาพดีไม่มีความเสี่ยงใดๆที่จะเกิดโรคจะเรียกว่าการส่งเสริม หากดูแลคนที่มีสุขภาพดีแต่มีความเสี่ยงบางอย่างเช่น office syndrom จะเรียกว่าการป้องกัน หากดูแลคนที่เจ็บหรือป่วยจะเรียกว่าการรักษา หากดูแลฝึกฝนคนที่หายเจ็บหรือป่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติจะเรียกว่าการฟื้นฟู |
ภาพการอบรมพนักงานสำนักงานป้องกัน office syndrome |
|
ภาพการป้องกันการบาดเจ็บจากการวิ่งในงานกรุงเทพมาราธอน |
ปล. ธีมที่เลือกใช้โพสนี้เป็นสีประจำวิชาชีพกายภาพบำบัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น