วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เคล็ดลับเดินขึ้นลงบันไดสูงๆยังไงไม่ให้ระบมกล้ามเนื้อขา

 เคล็ดลับพิชิตยอดศาสนสถานอุทยานธรรมเขานาในหลวง

                อุทยานธรรมเขานาในหลวงตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสำนักสงฆ์สำหรับการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน มีความสงบร่มเย็นห้อมล้อมไปด้วยป่าเขา สวนยาง สวนปาล์ม และชุมชนอันสงบสุข ในเว็บข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆนอกจากจะพูดถึงว่าเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาพุทธธรรมแล้ว ยังได้พูดถึงมุมถ่ายรูปสวยๆอีกมากมายเช่นซุ้มประตูโบราณแบบ 9 ยอด และศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนเขาหินปูนถึง 6 ยอด แต่ละยอดก็สูงมากทั้งนั้นเช่นเจดีย์ลอยฟ้าพระพุทธศิลาวดีที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนสูงจากพื้นดินเกือบ 300 เมตร ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตไว้


ซุ้มประตู 9 ยอด

ศาสนสถานยอดที่ 1 อยู่มุมขวาบนของซุ้มประตู

                ด้วยแรงศรัทธาและอยากขึ้นไปเห็นวิวในมุมกว้างจึงได้เดินขึ้นจำนวน 2 ยอด น่าเสียดายหากไม่รีบเดินทางต่ออาจจะไปครบทุกยอดก็ได้ ดังนั้นเท่ากับว่าผมเดินขึ้นความสูงรวมประมาณ 600 เมตร เพราะว่าแต่ละยอดจะสร้างไล่เรียงความสูงกันขึ้นไปเรื่อยๆ จากความสูงขนาดนี้ผมเดินไหวยังไง แข็งแรงแบบ the Huck ใช่มั้ย ผมสามารถตอบดังๆได้เลยครับว่าไม่ได้แข็งแรงมากครับ





                ก่อนจะเดินขึ้นไปเพื่อนๆก็แซวกันว่าข้อเข่าไม่ไหวแน่ แต่พอเดินจริงๆมันเปลี่ยนความเชื่อนั้นเลยครับ

                “หัวเข่ายังไหวแต่หัวใจแทบแย่”

                โชคดีที่ผมได้มีโอกาสออกกำลังกายวิ่งวันละ 5 กิโลเมตรอยู่บ่อยๆครับ เลยทำให้กล้ามเนื้อขอพอจะมีแรงบ้างและหัวใจก็ยังพอรับกับงานสู้แรงโน้มถ่วงโลกได้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากๆที่เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ผมสามารถพิชิตได้ถึง 2 ยอดซึ่งอาศัยหลักการทำงานและฟิสิกส์ที่เรียนมาในหลักสูตรกายภาพบำบัดก็คือ

                “การเดินถอยหลังลงบันได”





ภาพบนยอดที่ 2 ได้ภาพมุมกว้างและยอดเขาอื่นด้วย

                เป็นใครก็ต้องนึกภาพจำนวนขั้นบันไดและความสูงของขั้นบันได้ที่กว่าจะเดินขึ้นไปถึงยอดเขาได้ว่ามันต้องมากมายขนาดไหนใช่มั้ยครับ ใช่ครับ เราเดินขึ้นกี่ขั้นก็ต้องเดินลงกี่ขั้นเท่ากัน หากเราเดินลงบันไดโดยหันหน้าลงแบบเท่ๆ กล้ามเนื้อ Quadriceps (กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า) จะทำงานหนักมากและเกิดแรงกดที่ข้อเข่าสูงมากเพราะเป็นการทำงานแบบ eccentric contraction หากใครนึกไม่ออกก็ลอง squat สัก 200 ครั้งครับ จะรับรู้ถึงอาการปวดเมื่อยล้าระบมที่กล้ามเนื้อต้นขา นั่นแหละครับถ้าเราเมื่อยขาแล้วเราก็จะไปยอดต่อไปไม่ได้ แต่การเดินถอยหลังลงบันไดแบบที่ผมทำจะมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่อีกมัดนึงเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของ Quadriceps ก็คือกล้ามเนื้อก้นหรือ gluteus maximus ครับ นอกจากนี้การเดินถอยหลังลงบันไดจะบังคับให้เราก้มตัวไปด้านหน้าด้วยทำให้จุดรวมน้ำหนักของร่างกายอยู่กับขาบนมากกว่าขาล่างผลก็คือน้ำหนักตัวถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงลงพื้นได้น้อยลงซึ่งเป็นการได้เปรียบเชิงกล ด้วยหลักการนี้จึงทำให้กล้ามเนื้อผมประหยัดพลังงานเพื่อไปพิชิตยอดเขาต่อไปได้

                หากใครอยากได้เคล็ดลับการเคลื่อนไหวให้ประหยัดพลังงานกล้ามเนื้อสามารถเขียนเข้ามาถามกันได้ครับ ผมจะหาคำตอบหรือออกแบบวิธีการเพื่อนำเสนอไปใช้กัน



มีสระบัวเพิ่มความสวยงาม



พระพุทธศิลาวดีที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ทางอุทยานฯจะให้ถอดรองเท้าไว้ชั้นล่าง
ทำให้ตอนเดินเจ็บเท้าเอาเรื่องนิดหน่อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...