วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

กายภาพบำบัด vs. หมอนวด

        คนที่เจ็บกล้ามเนื้อหลายๆคนและหลายๆครั้งมีคำถามว่ามาทำกายภาพบำบัดคือมานวดใช่มั้ย? นักกายภาพบำบัดคือหมอนวดปริญญา? ในความรู้สึกของนักกายภาพบำบัดหลายๆคนจะค่อยข้างตอบลำบากกับคำถามนี้รวมทั้งตัวผมด้วย แต่ผมมักจะตอบว่าผมสามารถนวดได้ครับ มันเป็นส่วนนึงของการรักษาแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของตัวโรคและต้องตรวจร่างกายตามมาตราฐานของกายภาพบำบัดก่อนนวด คำถามอีกข้อนึงที่นักกายภาพบำบัดมักจะต้องตอบคือไปนวดได้มั้ย คำถามนี้เดี๋ยวมีเฉลยตอนท้ายครับ


 
  • นิยามที่แตกต่างระหว่างนักกายภาพบำบัดและนักนวด
        ผมได้นิยามนักกายภาพบำบัดว่าเป็นนักพัฒนาและป้องกันการเคลื่อนไหวบกพร่องจากความเสื่อมตามอายุ, การบาดเจ็บ, ความเจ็บปวด, โรค, ความบกพร่องของร่างกาย, และ/หรือสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงกายภาพบำบัด (อ่านย้อนหลังได้ที่ https://rehabcompanion.blogspot.com/.../02/blog-post_25.html) ในกระบวนการการรักษาทางกายภาพบำบัดมักจะประกอบด้วยการใช้เครื่องไฟฟ้าทางกายภาพบำบัดเช่น ultrasound, shock wave, high power laser, radio frequency, ประคบร้อน, ประคบเย็น และการใช้มือบำบัดได้การการนวดกล้ามเนื้อและเอ็น, การดึงดัดข้อ, การยืดกล้ามเนื้อ, การกระตุ้นกล้ามเนื้อผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก, การออกกำลังกายเพื่อการรักษา 

การยืดกล้ามเนื้อเกี่ยวกับมัดที่มีปัญหา


         หมอนวดหรือ massage therapist เป็นนักนวด มาจากคำว่า นัก = ผู้ทำบ่อยๆ หรือชำนาญ นวด = นวด ดังนั้นกระบวนการของนักนวดคือการนวดตามรูปแบบของการนวดนั้นๆ เช่นนวดน้ำมันเป็นการนวดด้วยการลูบผิวและกล้ามเนื้อด้วยน้ำมัน นวดไทยเป็นการนวดตามหลักการของเส้นประสาน 10 ตามศาสตร์การนวดแผนไทยซึ่งมีทั้งการนวด การยืดและการดัดผสมผสานกันไป นวดอโรม่าเป็นการนวดน้ำมันหอมระเหยจะใช้แรงน้อยกว่านวดน้ำมัน นวดกีฬา (sports massage) เป็นการนวดกล้ามเนื้อเป็นหลักมีทั้งการนวดหนักนวดเบาเพื่อให้เข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อทั้งลึกทั้งตื้นซึ่งการนวดชนิดนี้ผมจะขอยกไปไว้เป็นอีกหัวข้อนึงในอนาคต การนวดที่กล่าวมานี่้เป็นเพียงส่วนนึงในตลาดการนวดที่เป็นจักรวาลที่กว้างใหญ่มาก

หน้าตาฟินมากกกกกกกก


 
  • ความแตกต่างของการทำงานระหว่างนักกายภาพบำบัดและ massage therapist
(1) หลักสูตรการศึกษา: นักกายภาพบำบัดจะต้องจบปริญญาตรีสาขากายภาพบำบัดเป็นอย่างน้อยและมีใบประกอบโรคศิลปะเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นนักกายภาพบำบัดอย่างแท้จริง ส่วน massage therapist บางคนก็ไปเรียนอบรมระยะสั้นซึ่งเป็นคนที่มาจากหลากหลายอาชีพที่ต้องการมีทักษะในการทำงานอื่นเพิ่่มเติม หรือหลายๆคนก็จบปริญญาตรีแพทย์แผนไทยหรือจีนและมีใบประกอบโรคศิลปะ 
(2) สถานประกอบการ: ทั้งคลินิกกายภาพบำบัดและร้านนวดต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากสาธารณสุขจังหวัดทั้งคู่เพียงแต่เป็นคนละประเภท หากไม่มีใบอนุญาตนี้ถือว่าเถื่อน 
(3) ประเภทผู้รับบริการ: เราจะสามารถเห็นผู้ที่มีอาการของอัมพาต อัมพฤกษ์ และอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อในการบริการทั้งสอง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางระบบปอดหรือหัวใจและหลอดเลือดนั้นต้องมาหานักกายภาพบำบัดเท่านั้น 
(4) การตรวจร่างกาย: นักกายภาพบำบัดจะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายให้สอดคล้องกับอาการและโรคที่เป็นเพื่อนำไปวางแผนการรักษาที่อาจจะมีการนวดปนอยู่ด้วย ส่วนการนวดจะมีการสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัวกับบริเวณที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ รวมทั้งรูปแบบของการนวด 
(5) กระบวนการหัตถการ: การนวดเป็นหนึ่งในกระบวนการกายภาพบำบัดซึ่งอาจจะนวดหรือไม่นวดก็ได้ ในขณะนวดก็ไม่มีรูปแบบตายตัวเพราะต้องดูการตอบสนองของผู้ป่วยไปด้วย ส่วนในการนวดจะทำการนวดตามรูปแบบที่วางไว้ของการนวดแต่ละประเภทเช่นนวดไทยจะนวดจากเท้าเป็นส่วนแรก 
(6) เป้าหมายการนวด: ส่วนของกายภาพบำบัดจะต้องการให้กล้ามเนื้อสามารถกลับไปทำงานได้เป็นหลักซึ่งเราต้องการให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวและยืดตัวดีขึ้น ส่วนการผ่อนคลายสบายอารมณ์เป็นรอง แต่สำหรับการนวดของ massage therapist จะเน้นไปทางผ่อนคลายมากกว่า ยิ่งถ้าผู้รับบริการหลับไปเลยจะถือว่ามีฝีมือมากๆเพราะเป็นการทำให้ผู้รับบริการได้พักได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง อันนี้ผมเคยโดนมาแล้ว พอนวดเสร็จตื่นมารู้สึกสดชื่นมีพลังมากขึ้น หลังการนวดจะไม่มีการตรวจร่างกายซ้ำ (re - assessment) ซึ่งตรงข้ามกับกายภาพบำบัดแต่ผมถือว่าไม่เป็นไรเพราะเป้าหมายเราต่างกัน

การตรวจร่างกายทางกายภาพบำบัดและวิเคราะห์ปัญหาให้ผู้ป่วย


 
  • ไปทำกายภาพบำบัดหรือไปนวดดีกว่า
            สำหรับผมไม่มีอะไรดีกว่ากัน ขอให้วิธีการนั้นตรงกับความผิดปกติที่ผู้รับบริการเป็น เหมือนกับคำที่มักใช้กันว่าเกาให้ถูกที่คันนั่นแหละครับ การนวดก็ช่วยให้นักกายภาพบำบัดทำงานได้ง่ายขึ้นมากเช่นผู้ป่วยบางคนต้องใช้เวลาในการนวดนานหน่อยแล้วค่อยมากระตุ้นกล้ามเนื้อกันซึ่งนักกายภาพบำบัดไม่มีเวลาในการนวดขนาดนั้น เมื่อผู้ป่วยผ่านมือ massage therapist มาแล้วนักกายภาพบำบัดก็จะได้ใช้เวลามากระตุ้นกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ หรือหากไปนวดมาก่อนแล้วอาการความผิดปกติยังไม่ดีขึ้นเลยก็สามารถมาปรึกษานักกายภาพบำบัดได้ อาจจะกลับไปนวดต่อตามคำแนะนำเฉพาะจากนักกายภาพบำบัดได้หรืออาจจะต้องทำกายภาพบำบัดก่อนสักพักแล้วกลับไปนวด ดังนั้นการกายภาพบำบัดและการนวดสามารถแก้ปัญหาความผิดปกติให้กับผู้ป่วยได้หากตรงกับโรคซึ่งเป็นการตอบคำถามข้างต้นว่าสามารถไปนวดได้ ถ้าไม่หายค่อยมาหากายภาพบำบัด 
        ในประสบการณ์การทำงานของผม ผมแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายไปนวดได้พร้อมกับแนะนำประเภทของการนวดและจุดที่เน้นให้เกิดประโยชน์กับความปกติที่เขาเป็น ในทางกลับกันในกรณีที่ massage therapist รู้สึกถึงความผิดปกติหรือเป็นโรคบางอย่างหรือนวดแล้วไม่ผ่อนคลายเลย ก็จะแนะนำลูกค้าให้มาปรึกษานักกายภาพบำบัดด้วย จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 วิชาชีพสามารถทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับบริการได้ 


    เปรียบเทียบเพื่อเลือกบริการ    
    (1) บรรยากาศของสถานที่: ลักษณะของคลินิกกายภาพบำบัดจะต้องมีความสว่างและไม่ชวนหลับสักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามกับสถานที่นวดที่มีแสงสีเหลืองสลัวๆ กลิ่นหมอจากเทียนหอมระเหย เสียงเพลงกระตุ้น delta wave เบาๆ ชวนให้เคลิ้มหลับมากๆ
บรรยากาศห้องนวดในสปา

    (3) ความผ่อนคลาย: ผ่อนคลายทั้งคู่ครับแต่ถ้าอยากผ่อนคลายนานๆต้องนวดกับ massage therapist
    (4) ความต้องการการพักผ่อน: การนวดกับ massage therapist สามารถหลับได้ซึ่งถือว่าเป็นการพักผ่อน แต่การนวดกับกายภาพบำบัดอาจจะหลับได้ไม่นานแล้วต้องทำการกระตุ้นกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายเพื่อการรักษาด้วย
    (5) ระยะเวลาในการนวด: massage therapist มักจะจัด package การนวดไว้ 1 หรือ 2 ชั่วโมง สำหรับนวดทั้งตัว แต่การนวดกับกายภาพบำบัดอาจจะอยู่ระหว่าง 10 - 30 นาที เเละเป็นการนวดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติเท่านั้นจะไม่นวดทั้งตัว
    (6) ลดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ: ในบางภาวะก็ไม่เหมาะกับการนวดเช่นกล้ามเนื้อฉีกในระยะที่มีอาการอักเสบ ยิ่งนวดยิ่งเจ็บจำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นเข้าไปดูแล ดังนั้นหากนวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำว่ามาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อใช้วิธีอื่นๆเข้ามาดูแล
    (7) กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ: ในบางภาวะก็สามารถกระตุ้นได้ด้วยการนวดจากทั้ง massage therapy และกายภาพบำบัด แต่ในบางภาวะก็ต้องการวิธีการทางกายภาพบำบัดอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย
    (8) ราคา: อันนี้ตอบยากมากครับ แล้วแต่สถานที่ จังหวัด และต้นทุนบวกกำไรของแต่ละที่ 

บรรยากาศการทำกายภาพบำบัด

บรรยากาศการทำกายภาพบำบัด


  
    
    "สรุปว่านักกายภาพบำบัดไม่ใช่หมอนวดปริญญา เพียงแต่การนวดเป็นขั้นตอนนึงที่เราอาจจะเลือกใช้ หากต้องการการผ่อนคลายได้พักผ่อนก็แนะนำให้เริ่มต้นกับ massage therapist แต่ถ้าต้องการแก้ปัญหาอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อหรืออัมพาตอัมพฤกษ์แนะนำให้เริ่มต้นกับนักกายภาพบำบัด" 

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...