วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

กายภาพบำบัด MCL injury ในนักกีฬาว่ายน้ำท่ากบมืออาชีพ

 

“ว่ายน้ำท่ากบแล้วเจ็บเข่าด้านในเป็นอะไรเนี่ย”

ภาพการว่ายน้ำท่ากบ (Breaststroke)
(ภาพจาก https://www.theguardian.com/)


นักกีฬาว่ายน้ำอาชีพมาหากายภาพบำบัดที่คลินิกด้วยอาการเจ็บเข่าด้านในจากการฝึกซ้อมว่ายน้ำ นักกีฬาคนนี้ถนัดด้านการว่ายน้ำท่ากบ (Breaststroke) จึงได้รับการจัดตารางการฝึกให้ว่ายในท่านี้มากกว่าท่าอื่นๆ 

จากการซักประวัติแล้วยืนยันว่ามีอาการเจ็บเฉพาะตอนว่ายท่ากบเท่านั้น การซักประวัติของผมมักจะขอให้นักกีฬาค่อยๆนึกภาพแบบ super slow motion ว่าเจ็บ ณ จุดการเคลื่อนไหวใด สำหรับกรณีนี้ได้คำตอบว่าเจ็บตอนงอเข่า ซึ่งถือว่าเป็น keyword ที่ผมจะเอาไปตรวจร่างกายสืบค้นตามวิธีของกายภาพบำบัดต่อ

เริ่มต้นการตรวจร่างกายก็ทำตามขั้นตอนปกติคือดูเรื่องตำแหน่งของร่างกาย (posture) ก่อนว่ามีผิดเพี้ยนจนทำให้เกิดภาระกับตำแหน่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ไม่พบความเกี่ยวข้องใดๆ จากนั้นก็ดูการเคลื่อนไหวของเข่าและสะโพกทั้งที่ให้ผู้ป่วยงอขา - เหยียดขาเองและทั้งผมเป็นคนยกขยับขาให้นักกีฬา ในขั้นตอนนี้ก็ยังไม่แสดงอาการเหมือนอย่างตอนว่ายน้ำ

ขั้นตอนต่อไปก็หาจุดกดเจ็บ ผมก็จิ้มไปตรงตำแหน่งที่สงสัย 2 - 3 ตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งของจุดเกาะกล้ามเนื้อ hip adductor, pes anserine, และ เอ็น MCL คราวนี้นักกีฬาแสดงอาการเจ็บออกมาแล้ว ผมก็ให้นักกีฬาช่วยชี้ตำแหน่งที่เจ็บอีกทีเพื่อดูว่าตรงกันมั้ย โชคดีที่ตำแหน่งตรงกันและเริ่มมั่นใจคำตอบที่อยู่ในใจแล้ว 

ตำแหน่งที่อยู่ของเอ็น MCL 
(ภาพจาก https://nevtheknee.co.uk/)


เพื่อยืนยันว่าตำแหน่งที่เจ็บคืออะไรก็ใช้วิธีการตรวจทางกายภาพบำบัดที่เรียกว่า Knee valgus stress test ซึ่งเป็นการตรวจเฉพาะเอ็น MCL แล้วก็ได้ผลเป็นบวกคือมีอาการเจ็บแต่ไม่มีอาการข้อหลวมก็คือเป็น

"MCL sprain grade 1" 

ภาพพื้นที่ความเสียหายของการบาดเจ็บเอ็น MCL โดยระดับ1 เป็นภาพที่ 2 จากซ้าย
(ภาพจาก https://myfamilyphysio.com.au/)


เชื่อว่าพออ่านมาถึงตรงนี้คงจะสงสัยกันว่าแค่ว่ายน้ำไม่ได้ไปหกล้มหรือไม่ได้ถูกปะทะแบบฟุตบอลแล้วเอ็นมันบาดเจ็บได้ยังไง การเจ็บ MCL ในนักว่ายน้ำถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน Breaststroke’s knee ที่สามารถพบได้บ่อย และนักกีฬารายนี้ก็ไม่ใช่รายแรกที่มาทำกายภาพบำบัดกับผมด้วยอาการนี้ 

ผมเล่าให้นักกีฬาฟังว่าเอ็น MCL หรือ Medial Collateral Ligament เป็นเอ็นข้อต่อที่ทอดตัวตั้งแต่ปลายกระดูกต้นขาด้านในข้ามข้อเข่าไปที่ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้งด้านใน มีหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับข้อเข่าด้านในช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเข่าด้านในอ้าออก (valgus stress) มากเกินไปในขณะที่มีการงอเข่าและป้องกันไม่ให้กระดูกหน้าแข้งหมุนออกด้านนอกและหมุนเข้าด้านใน (external & internal rotation) มากเกินไป ทุกครั้งที่มีการงอเข่าและเหยียดเข่าจะมีกลไกตามธรรมชาติที่เกิดการหมุนของกระดูกหน้าแข้งผสมอยู่ด้วย บวกกับในจังหวะที่งอขาเพื่อเตรียมถีบน้ำในการว่ายท่ากบ เข่าจะบิดเข้าด้านในเป็นลักษณะของ valgus ร่วมด้วยทำให้เกิดแรงเฉีอนขึ้นที่ MCL อยู่ทุกครั้งที่ถีบขา สะสมมาทุกวันเป็นเดือนเป็นปีจนเอ็นเริ่มฟื้นตัวไม่ไหวเเละบาดเจ็บในที่สุดซึ่งเรียกว่า overuse injury

 

จังหวะงอขาเตรียมถีบน้ำในท่ากบ
(ภาพจาก https://www.220triathlon.com/)


การรักษาทางกายภาพบำบัดที่ผมวางแผนไว้ไม่มีอะไรซับซ้อน ประกอบไปด้วยการการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง (ultrasound therapy) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมของเส้นใย ต่อด้วยกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อลดบวมและกระตุ้นการซ่อมแซมของเส้นใย ตามด้วยการประคบน้ำแข็ง และปิดท้ายด้วยการติดเทปกาวทางการกีฬาเพื่อช่วยลดภาระงานของ MCL รวมทั้งการใส่ knee support ไม่เหมาะกับการใส่ไปซ้อมว่ายน้ำ เป้าหมายคือทำให้กลับไปซ้อมให้ได้เพราะการหยุดซ้อมหมายถึงการขาดงานของนักกีฬา หากมีอาการเจ็บมากก็แนะนำให้นักว่ายน้ำปรับการซ้อมโดยหลีกเลี่ยงการว่ายท่ากบหรือการใช้ขาในการซ้อม

ตัวอย่างการติดเทป kinesio-tape เพื่อเสริมความแข็งแรงข้อเข่าด้านในและลดภาระ MCL
(ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/302022718734650462/)


แผนการรักษาทางกายภาพบำบัดของผมก็เป็นไปตามนี้จนอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ ตามคำแนะนำควรจะมาทำกายภาพบำบัดก่อนทำการซ้อม นอกจากจะเป็นการรักษาและเตรียมร่างกายแล้ว ยังเป็นการประเมินอาการเพื่อช่วยกันวางแผนการซ้อมให้มีประสิทธิภาพที่สุดโดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อ MCL ใหม่อีกครั้ง 


แหล่งอ้างอิง

https://www.researchgate.net/publication/233809713_Breaststroker's_knee_An_analysis_of_epidemiological_and_biomechanical_factors


https://www.ryanmiyamotomd.com/pdf/clinical-focus-orthopaedic-ligament-injuries.pdf


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...