วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

Penalty kick ดวงครึ่งนึงวิทยาศาสตร์ครึ่งนึง

         ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับทีม Liverpool ที่คว้าแชมป์คาราบาวลีกคัพจากค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 มาสดๆร้อนๆเป็นเรื่องแรกก่อนครับ ถ้วยนี้เป็นถ้วยบอลเตะแบบแพ้คัดออกถ้วยใบเล็กที่สุดของประเทศอังกฤษ มีการเปลี่ยนสปอนเซอร์มาเรื่อยๆ องค์กรไหนประมูลชนะก็จะมีชื่อองค์กรแปะไว้หน้าถ้วย เมื่อ 5 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เครื่องดื่มชูกำลังเจ้าหนึ่งจากประเทศไทยได้เข้าไปชนะการประมูลเป็นสปอนเซอร์ของถ้วยนี้ จึงได้ชื่อว่าคาราบาวลีกคัพ



        ประเด็นของวันนี้ไม่ใช่ประวัติความเป็นมาของถ้วยใบนี้ครับ แต่เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทีม Liverpool สามารถเอาชนะมาได้นั่นคือการดวลลูกจุดโทษหรือ Penalty kick 



        การยิงลูกจุดโทษนี้จะถูกนำมาใช้ตัดสินในทัวร์นาเมนต์ที่ต้องการเพียงผู้ชนะเท่านั้น ทั้งสองทีมจะต้องมีประตูเสมอกันจนครบ 90 นาทีก่อน แล้วมาวัดกำลังกันต่ออีก 30 นาที หากยังไม่สามารถยิงประตูให้มากกว่าอีกฝ่ายได้ก็ต้องใช้การดวงจุดโทษหาผู้ที่ยิงได้มากที่สุดมาเป็นผู้ชนะ โดยเบื้องต้นแต่ละทีมจะได้โควต้าทีมละ 5 คน แต่ถ้ายังเสมอกันอยู่ก็จะยิงกันต่อทีมละ 1 คนไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีทีมที่ยิงได้มากกว่า

        ผู้ที่ดูการถ่ายทอดฟุตบอลเป็นประจำมักได้ยินผู้พากษ์เสียงใช้คำว่า "ดวลลูกโทษ" ฟังดูเผินๆก็เหมือนเกมส์วัดดวงว่าใครจะยิงได้แม่นยิงได้มากหรือป้องกันประตูได้มากกว่ากัน แต่อันที่จริงแล้วมันไม่ได้พึ่งดวงไปเสียทั้งหมด มันมีการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วยตั้งแต่การซ้อมจนถึงในขณะแข่งขัน คนที่ลงแข่งฟุตบอลเป็นประจำมักจะใช้กลยุทธอุดเพื่อรอยิงลูกโทษเมื่อเจอทีมที่เก่งกว่ามากๆ ซึ่งคนทีมนั้นต้องทำการซ้อมการยิงลูกโทษมาเป็นอย่างดี


        ในการซ้อมก็ต้องซ้อมทั้งผู้ยิงและผู้รักษาประตู และในแวดวงวิทยาศาสตร์การกีฬาก็มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางยกตัวอย่างเช่น

        (1) ผู้ยิง: เรามักจะเห็นการยิงไปให้ใกล้เสามากที่สุดเพราะเป็นระยะทางที่ผู้รักษาประตูมักจะพุ่งไปป้องกันไม่ทัน การยิงไปตรงนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชนเสาหรือออกหลังไปเลยก็ได้ ดังนั้นในการฝึกซ้อม ผู้ยิงจะต้องฝึกยิงไปยังเครื่องหมายที่กำกับไว้ให้มีความแม่นยำในหลายๆตำแหน่ง เช่นการวิจัยของ Arif Hidayat ที่ทำการฝึกนักเรียนมัธยมปลายให้ยิงลูกไปตามจุดที่เขาทำเครื่องหมายไว้เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ได้ผลว่านักเรียนเหล่านั้นมีความแม่นยำจาก 4.3 % เป็น 21.5% 

เป้าซ้อมยิงในการวิจัยของ Arif Hidayat

        นอกจากความแม่นยำแล้ว ความแรงในการเตะก็เป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน เราจะเห็นว่าบางคนยิงแรงแบบกะเอาตายก็มีทั้งได้ประตูและยิงออก ส่วนคนยิงเบาๆก็มีทั้งได้ประตูและไม่ได้ประตูเช่นกัน Mike Hughes และ Julia Wells ทำการวิจัยเรื่องความแรงในการยิงมีผลกับการได้ประตูอย่างไร พบว่าการใส่เต็มข้อล่อเต็มแข้งต่อให้รับได้ก็มือขาด มีคนนิยมใช้ประมาณ 18% มีโอกาสเป็นประตู 63% มีโอกาสออกหลัง 31% มีโอกาสให้ผู้รักษาประตูป้องกันได้ 7% แต่เมื่อใช้แรงเตะลดลงมาประมาณ 75%  มีคนนิยมใช้ประมาณ 70% มีโอกาสเป็นประตู 81% มีโอกาสออกหลัง 1% มีโอกาสให้ผู้รักษาประตูป้องกันได้ 18% และเมื่อเตะเบาๆใช้แรงประมาณ 50% มีคนนิยมใช้ประมาณ 12% มีโอกาสเป็นประตู 47% มีโอกาสออกหลัง 0% มีโอกาสให้ผู้รักษาประตูป้องกันได้ 53% 

        ทั้งความแม่นยำผสมกับความแรงในการเตะก็สามารถใช้การวิจัยของ Andrew H. Hunter มาสรุปได้ว่าจะต้องมีส่วนผสมของทั้ง 2 ปัจจัยอย่างพอเหมาะพอดี

การจัดตั้งอุปกรณ์ในงานวิจัยของ Andrew H. Hunter

ทุกแบบมีทั้งข้อดีข้อเสีย ใครนิยมแบบไหนก็ซ้อมให้บ่อยบวกกับต้องยิงให้แม่นยำนะครับ

        (2) ผู้รักษาประตู: เรามักจะใช้คำว่า "เดาทาง" อยู่เป็นประจำในการที่จะป้องกันการยิง แต่ Manuel Sequeira และคณะ ได้วิจัยให้ผู้รักษาประตูอ่านภาษากายของผู้ยิงทำให้อ่านใจทิศทางการยิงได้ ในการวิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะที่หนึ่งเขาใช้วิธีบันทึกวีดีโอท่าทาง การเคลื่อนไหว และทิศทางการยิงของผู้ยิงแต่ละคนอย่างละเอียดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระยะที่สองเขาให้ผู้รักษาประตูดูวีดีโอของผู้ยิงอย่างละเอียดแล้วไปฝึกป้องกันการยิง ระยะที่สามให้ผู้รักษาประตูฝึกการอ่านท่าทางและทิศทางกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หลังการฝึก 8 สัปดาห์ทำให้ผู้รักษาประตูเลือกทิศทางซ้ายขวาได้ถูกต้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ระดับความสูงต่ำของลูกบอลนั้นยังยากเกินจะอ่านใจได้

ภาพการวิจัยของ Manuel Sequeira และคณะ

        นอกจากการอ่านใจแล้ว เราอาจเคยเห็นผู้รักษาประตูอ่านโพยสถิติทิศทางการยิงของผู้ยิงแต่ละคนด้วยซึ่งเคยได้ผลมาแล้ว รวมไปถึงการรบกวนสมาธิของผู้ยิงจากทั้งผ่ายตรงข้ามหรือไม่ก็กองเชียร์และการท่องคาถามหาอุดด้วย

        ดังนั้นในการชนะจากการยิงลูกจุดโทษจะต้องพึ่งพาดวงแล้วยังต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ สถิติ การฝึกซ้อม และสติไปพร้อมๆกัน



เอกสารอ้างอิงคร่าวๆจากบทความ

(1) Shooting Drills with Target Changes to Improve the Accuracy of Penalty Kick in Soccer.

(2) Analysis of penalties taken in shoot-outs.

(3) Posture-reading by men’s football goalkeepers and other factors in saving penalty kicks. 

(4) Anticipating the Direction of Soccer Penalty Shots Depends on the Speed and Technique of the Kick.

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เคล็ดลับเดินขึ้นลงบันไดสูงๆยังไงไม่ให้ระบมกล้ามเนื้อขา

 เคล็ดลับพิชิตยอดศาสนสถานอุทยานธรรมเขานาในหลวง

                อุทยานธรรมเขานาในหลวงตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านเขานาใน ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสำนักสงฆ์สำหรับการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน มีความสงบร่มเย็นห้อมล้อมไปด้วยป่าเขา สวนยาง สวนปาล์ม และชุมชนอันสงบสุข ในเว็บข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆนอกจากจะพูดถึงว่าเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาพุทธธรรมแล้ว ยังได้พูดถึงมุมถ่ายรูปสวยๆอีกมากมายเช่นซุ้มประตูโบราณแบบ 9 ยอด และศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนเขาหินปูนถึง 6 ยอด แต่ละยอดก็สูงมากทั้งนั้นเช่นเจดีย์ลอยฟ้าพระพุทธศิลาวดีที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนยอดเขาหินปูนสูงจากพื้นดินเกือบ 300 เมตร ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตไว้


ซุ้มประตู 9 ยอด

ศาสนสถานยอดที่ 1 อยู่มุมขวาบนของซุ้มประตู

                ด้วยแรงศรัทธาและอยากขึ้นไปเห็นวิวในมุมกว้างจึงได้เดินขึ้นจำนวน 2 ยอด น่าเสียดายหากไม่รีบเดินทางต่ออาจจะไปครบทุกยอดก็ได้ ดังนั้นเท่ากับว่าผมเดินขึ้นความสูงรวมประมาณ 600 เมตร เพราะว่าแต่ละยอดจะสร้างไล่เรียงความสูงกันขึ้นไปเรื่อยๆ จากความสูงขนาดนี้ผมเดินไหวยังไง แข็งแรงแบบ the Huck ใช่มั้ย ผมสามารถตอบดังๆได้เลยครับว่าไม่ได้แข็งแรงมากครับ





                ก่อนจะเดินขึ้นไปเพื่อนๆก็แซวกันว่าข้อเข่าไม่ไหวแน่ แต่พอเดินจริงๆมันเปลี่ยนความเชื่อนั้นเลยครับ

                “หัวเข่ายังไหวแต่หัวใจแทบแย่”

                โชคดีที่ผมได้มีโอกาสออกกำลังกายวิ่งวันละ 5 กิโลเมตรอยู่บ่อยๆครับ เลยทำให้กล้ามเนื้อขอพอจะมีแรงบ้างและหัวใจก็ยังพอรับกับงานสู้แรงโน้มถ่วงโลกได้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากๆที่เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ผมสามารถพิชิตได้ถึง 2 ยอดซึ่งอาศัยหลักการทำงานและฟิสิกส์ที่เรียนมาในหลักสูตรกายภาพบำบัดก็คือ

                “การเดินถอยหลังลงบันได”





ภาพบนยอดที่ 2 ได้ภาพมุมกว้างและยอดเขาอื่นด้วย

                เป็นใครก็ต้องนึกภาพจำนวนขั้นบันไดและความสูงของขั้นบันได้ที่กว่าจะเดินขึ้นไปถึงยอดเขาได้ว่ามันต้องมากมายขนาดไหนใช่มั้ยครับ ใช่ครับ เราเดินขึ้นกี่ขั้นก็ต้องเดินลงกี่ขั้นเท่ากัน หากเราเดินลงบันไดโดยหันหน้าลงแบบเท่ๆ กล้ามเนื้อ Quadriceps (กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า) จะทำงานหนักมากและเกิดแรงกดที่ข้อเข่าสูงมากเพราะเป็นการทำงานแบบ eccentric contraction หากใครนึกไม่ออกก็ลอง squat สัก 200 ครั้งครับ จะรับรู้ถึงอาการปวดเมื่อยล้าระบมที่กล้ามเนื้อต้นขา นั่นแหละครับถ้าเราเมื่อยขาแล้วเราก็จะไปยอดต่อไปไม่ได้ แต่การเดินถอยหลังลงบันไดแบบที่ผมทำจะมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่อีกมัดนึงเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของ Quadriceps ก็คือกล้ามเนื้อก้นหรือ gluteus maximus ครับ นอกจากนี้การเดินถอยหลังลงบันไดจะบังคับให้เราก้มตัวไปด้านหน้าด้วยทำให้จุดรวมน้ำหนักของร่างกายอยู่กับขาบนมากกว่าขาล่างผลก็คือน้ำหนักตัวถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงลงพื้นได้น้อยลงซึ่งเป็นการได้เปรียบเชิงกล ด้วยหลักการนี้จึงทำให้กล้ามเนื้อผมประหยัดพลังงานเพื่อไปพิชิตยอดเขาต่อไปได้

                หากใครอยากได้เคล็ดลับการเคลื่อนไหวให้ประหยัดพลังงานกล้ามเนื้อสามารถเขียนเข้ามาถามกันได้ครับ ผมจะหาคำตอบหรือออกแบบวิธีการเพื่อนำเสนอไปใช้กัน



มีสระบัวเพิ่มความสวยงาม



พระพุทธศิลาวดีที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ทางอุทยานฯจะให้ถอดรองเท้าไว้ชั้นล่าง
ทำให้ตอนเดินเจ็บเท้าเอาเรื่องนิดหน่อย

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กายภาพบำบัดคืออะไร



  • กายภาพบำบัดคืออะไร

        ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายวิชาชีพกายภาพบำบัดว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดหรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยคำแนะนำของคณะกรรมการให้เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์กายภาพบำบัด

        ส่วนสมาพันธ์กายภาพบำบัดโลก (World Confederation for Physical Therapy: WCPT) ได้กล่าวถึงกายภาพบำบัดว่าเป็นการบริการให้กับบุคคลหรือกลุ่มคนโดยนักกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนา หรือรักษาสภาพ หรือฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุดตลอดช่วงอายุขัย การบริการให้กับคนที่มีความบกพร่องของการเคลื่อนไหวที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ, การบาดเจ็บ, ความเจ็บปวด, โรค, ความบกพร่องของร่างกาย, และ/หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องมีความเข้าใจในการเคลื่อนไหวแบบปกติของมนุษย์และยังต้องเข้าใจความสัมพันธ์วงจรการส่งเสริมสุขภาพ - การป้องกัน - การรักษา - การฟื้นฟู ซึ่งถูกห้อมล้อมของวงจรความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย - จิตใจ - อารมณ์ - สังคม รวมกันส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขให้มากที่สุด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ นักกายภาพบำบัดต้องร่วมมือทำงานกับอีกหลายๆฝ่ายได้แก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ครอบครัว ผู้ดูแล บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ และบุคคลต่างๆที่ผู้ป่วยพามาเกี่ยวข้อง

        บางคนอ่านแล้วก็จะยังเห็นภาพวิชาชีพกายภาพบำบัดไม่ชัด ไม่ต้องกังวลครับเพราะแม้แต่นักกายภาพบำบัดอีกหลายคนยังนิยามตัวเองไม่ชัดรวมทั้งตัวผมด้วย 😅 แต่คำสำคัญที่ทั้ง พรบ และ WCPT ได้ระบุไว้เหมือนกันคือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ

    

    ดังนั้นน่าจะเปรียบเทียบได้ว่านักกายภาพบำบัดคือนักพัฒนาและป้องกันการเคลื่อนไหวบกพร่องจากความเสื่อมตามอายุ, การบาดเจ็บ, ความเจ็บปวด, โรค, ความบกพร่องของร่างกาย, และ/หรือสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงกายภาพบำบัด 


  • กายภาพบำบัดเรียนจบอะไร
        เส้นทางการเป็นนักกายภาพบำบัดจะต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ เราจะต้องใช้วิชาชีววิทยา เคมี คณิตศาสต์ ภาษาอังกฤษ และฟิสิกส์ แต่ละวิชาถือว่าเป็นพื้นฐานที่เราจะได้นำไปใช้จริงๆในชีวิตนักกายภาพบำบัดเช่น คำศัพท์เกือบ 100% ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาลาตินก็ตามรวมไปถึงบทความทางวิชาการต่างๆมักเป็นภาษาอังกฤษ วิชาชีววิทยาและเคมีมักใช้ร่วมกันเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าในกล้ามเนื้อในกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ และวิชาฟิสิกส์เช่นในเรื่องของ office syndrome 

ลักษณะท่าทางกิจกรรมต่างๆต้องอาศัยวิชาฟิสิกส์เช่นเรื่องคาน
        
        การเรียนหลักสูตรปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขากายภาพบำบัดใช้เวลา 4 ปี เป็นเวลา 4 ปีที่ทรมานบวกบันเทิง เราสนุกกับการใช้ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่ก็ทรมานกับเนื้อหาใหม่ๆที่ไม่คุ้นชิน แต่เชื่อเถอะครับว่าพอเราใช้ทฤษฎีต่างๆซ้ำบ่อยๆคือใช้ไปและทบทวนไปทั้งตอนเรียนและทำงานเดี๋ยวมันก็กลายเป็นความสนุกแทนความทรมานไปเอง ความเข้มงวดของอาจารย์ทั้งหลายไปจนถึงอาจารย์ที่ควบคุมการฝึกงานนอกสถานที่มักทำให้เราหงุดหงิดใจจนถอดใจไม่อยากเป็นนักกายภาพแล้วบ่อยๆ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและใบประกอบวิชาชีพของเรา เขาก็ต้องสมบทบาทนั้น หลังจากเรียนจบได้เป็นนักกายภาพบำบัดแล้วการปฏิบัติต่อกันจะเปลี่ยนไปอย่างที่เรานึกภาพไม่ออกเลยแหละ
        การฝึกงานนอกสถานที่ถือว่าเป็นการเปิดโลกให้กับนักศึกษาในหลายๆมิติไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี การทำงาน การตื่น การนอน ความเชื่อ การเดินทาง ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เนต แดด ฝน ลม ฝุ่นควัน การใช้เวลาในแต่ละวัน ฯลฯ ในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ใครที่อยากลองไปในจังหวัดหรืออำเภอที่ไม่เคยไปก็ต้องรีบถือโอกาสนี้เจรจากับเพื่อนๆในห้องเพื่อขอจับจองสถานที่ฝึกงาน การไปฝึกงานบางแห่งก็มีที่พักให้แต่บางที่ก็ต้องจ่ายค่าหอพักเอง และที่แน่ๆคือค่าเดินทางท่องเที่ยวบริเวณนั้น สำหรับตัวผมเองประทับใจโรงพยาบาลชลบุรีมากที่สุดเพราะในช่วงเวลานั้นอากาศยังดีมากไม่มีฝุ่น PM 2.5 แบบสมัยนี้เลย ตกเย็นมากก็มีคนเล่นบอลใกล้ๆบ้านพักซึ่งเราได้บ้านพักในโรงพยาบาล วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไปเที่ยวในตัวตลาดบ้าง บางแสนบ้าง พัทยาบ้าง เข้ากรุงเทพก็ไม่ได้ลำบากอะไร เคยคิดขนาดว่าจะหางานทำในชลบุรีน่าจะดี 
       หลังจากเรียนจบ 4 ปีแล้วก็ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นใบอนุญาตให้เราประกอบอาชีพนี้ได้เปรียบเสมือนใบอนุญาตให้รักษาคนไข้ได้ หากจะไปประกอบอาชีพนี้ในประเทศใดก็ต้องสอบของประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้ทั่วโลกได้ 
        การศึกษาเรียนรู้ไม่ได้จบเพียง 4 ปีนั้น เรายังต้องไปอบรมหลักสูตรระยะสั้นกันบ่อยๆด้วยเพื่อทบทวนและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้หลักสูตรกายภาพบำบัดยังขยายไปถึงปริญญาเอกมานานแล้วด้วย ใครชอบสายวิชาการหรืออยากเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยก็เดินทางสายปริญญาโทและเอกซึ่งจะเน้นไปทางการอ่านตำรา บทความวิชาการและวิธีทำการวิจัยในรูปแบบต่างๆ จะทำให้เก่งเรื่องการทำการวิจัย หรือจะไปต่อปริญญาโทหรือเอกสาขาอื่นๆก็เปิดกว้างได้อีกหลายสาขา

  

ภาพจากการอบรม Rugby World level 1 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่

ภาพจากการอบรมนักกายภาพบำบัดทางการกีฬาโดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียที่ประเทศการ์ต้า

ภาพจากการอบรมการจัดดัดกระดูก

ภาพจากการอบรมการจัดดัดกระดูก


  • คนไข้ของกายภาพบำบัด
        ตอนนี้ในประเทศไทยได้แบ่งคนไข้กายภาพบำบัดออกเป็น 5 ประเภทได้แก่ (1) ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (2) ระบบประสาท (สมองและไขสันหลัง) (3) เด็ก (4) ทรวงอก (ระบบการหายใจ) และน้องใหม่ (5) กีฬา บางครั้งในผู้ป่วย 1 คนอาจจะได้รับการดูแลมากกว่า 1 ประเภทเช่นผู้ป่วยอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนจนบาดเจ็บที่ไขสันหลังระดับคอโดยหลักการแล้วจะได้รับการดูแลเป็นผู้ป่วยประเภทระบบประสาทซึ่งทำการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและฝึกการใช้ชีวิตด้วยกล้ามเนื้อที่เหลือเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องฝึกให้ระบบการหายใจทำงานได้ดีด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอในการทำกิจวัตรประจำวันและไม่ให้มีเสมหะคั่งค้าง เท่านั้นยังไม่พออาจจะต้องดูแลระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่สามารถเกิดการบาดเจ็บได้จากการใช้งานมากเกินไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวจากอีกมากมายหลายกรณีและหลายโรคที่จำเป็นต้องใช้นักกายภาพบำบัดเข้ามาดูแลสุขภาพ
ภาพการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (งานภาคแผนก)

ภาพการรักษาในขณะเเข่งขันฟุตบอล (งานภาคสนาม)



  • Customer journey 
        ศาสตร์กายภาพบำบัดสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องดูแลสุขภาพให้กับคนได้ทุกเพศทุกวัย อายุตั้งแต่แรกเกิดจนไปถึงก่อนเสียชีวิต เช่นกรณีเด็ก 5 ขวบ ที่มีเท้าแบนแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวดหรือการเดินที่ผิดปกติใดๆและแพทย์ยังให้รอสังเกตอาการไปอีกสัก 1-2ปีไปก่อน สามารถที่มาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจและรับข้อมูลในการดูแลเท้าไปดูแลตัวเองที่บ้านในช่วงที่สังเกตอาการไปด้วยก็ได้ ในกรณีนี้จะเห็นว่าผู้ปกครองหรือผู้ป่วยพบอาการผิดปกติก่อนแล้วไปพบหมอแล้วค่อยมาหานักกายภาพบำบัดด้วยก็ได้ อีกกรณีนึงเช่นบุคคลที่ทำงานกับคอมมากๆแต่ยังไม่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบ office syndrome ก็สามารถมาพบนักกายภาพบำบัดโดยตรงเพื่อตรวจและรับข้อมูลการป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงในการเกิด office syndrome ได้เลยไม่ต้องไปแพทย์ก่อน อีกกรณีนึงเช่นนักฟุตบอลผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า หลังจากตัดไหมแล้วแพทย์มักจะส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดดูแลภายใต้ขั้นตอนการฟื้นฟูมาตราฐาน แพทย์กับนักกายภาพบำบัดจะทำการส่งข้อมูลให้กันเพื่อความก้าวหน้าของนักฟุตบอลคนนี้ตลอดเวลาจนแข็งแรงพอที่จะกลับไปซ้อมกับทีมได้ 
    
    ดังนั้นในกรณีที่นักกายภาพบำบัดได้ดูแลคนที่มีสุขภาพดีไม่มีความเสี่ยงใดๆที่จะเกิดโรคจะเรียกว่าการส่งเสริม หากดูแลคนที่มีสุขภาพดีแต่มีความเสี่ยงบางอย่างเช่น office syndrom จะเรียกว่าการป้องกัน หากดูแลคนที่เจ็บหรือป่วยจะเรียกว่าการรักษา หากดูแลฝึกฝนคนที่หายเจ็บหรือป่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติจะเรียกว่าการฟื้นฟู 
ภาพการอบรมพนักงานสำนักงานป้องกัน office syndrome

ภาพการป้องกันการบาดเจ็บจากการวิ่งในงานกรุงเทพมาราธอน

ปล. ธีมที่เลือกใช้โพสนี้เป็นสีประจำวิชาชีพกายภาพบำบัด


        

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เปิดตัวคร้าบบบบบบบบบบบบ

             22022022 เวลา 2222 วันและเวลาเลขสวยเหมาะแก่การเปิดตัว blog น้องใหม่ มือใหม่หัดเขียน blog แต่ประสบการณ์ 21 ปี ไม่ใหม่เลยนะครับ 

            Blog นี้เป็นเว็บที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตกับกายภาพบำบัด โรคทางกายภาพบำบัด การรักษาทางกายภาพบำบัดเช่นการยืดกล้ามเนื้อ การนวด การดัดข้อ การจัดกระดูก การออกกำลังกายเพื่อการรักษา และการใช้เครื่องมือของกายภาพบำบัดต่างๆ เราจะเป็นกูรูและเพื่อนร่วมทางให้กับท่านผู้ติดตาม เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไขข้อสงสัย แก้ปัญหาสุขภาพ และเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างท่านผู้ติดตามในยามที่ท่านหรือคนรอบๆตัวในยามเจ็บป่วย 

         ขอแนะนำตัวผู้เขียนสักนิดนึงนะครับ

        ชื่อ - นามสกุล: อธิพล เมธาทิพย์

        ชื่อเล่น: ยิม

        ถิ่นกำเนิด: เชียงใหม่

        ถิ่นหากินปัจจุบัน: ภูเก็ต

       อาชีพและตำแหน่ง: นักกายภาพบำบัด ซึ่งมีประสบการณ์มากกับการรักษาหรือส่งเสริมหรือป้องกันนักกีฬาท้งอาชีพและสมัครเล่น, ผู้ป่วยเจ็บปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อเช่น office syndrome, กล้ามเนื้อฉีก, ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า เป็นต้น และผู้ป่วยอัมพาตอัมพฤกษ์

        ประวัติการศึกษา: 

  • ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตเวชศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        ประวัติการทำงาน: 

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แผนกกายภาพบำบัด 10 ปี
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ แผนกเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ 7 ปี


  • นักกายภาพบำบัดประจำธัญญปุระสหคลินิก ตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน



       งานพิเศษ: 

  • นักกายภาพบำบัดประจำทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ที่พม่า ปี 2013

  • นักกายภาพประจำทีมฟุตบอลเยาชนชายในการแข่งขัน Bayern Munich Youth Cup ที่ประเทศเยอรมัน


  • นักกายภาพบำบัดประจำทีมรักบี้ 7 คนชาย ทีมชาติไทย

        การอบรมพิเศษที่ประทับใจ: 

  • AFC Sports Physiotherapy course @ Aspetar in Doha เป็นการอบรมนักกายภาพบำบัดนานาชาติที่จัดขึ้นโดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ซึ่ง ณ เวลานี้มีนักกายภาพบำบัดชาวไทยที่ผ่านหลักสูตรนี้เพียง 2 คน


  • การตรวจประเมินด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงหรือ Ultrasound diagnosis โดยปกติเราจะรู้จักเครื่องนี้ด้วยการดูทารกในท้องแม่หรือดูนิ่วในถุงน้ำดี แต่ปัจจุบันในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้ในการตรวจดูกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากขึ้น


        กีฬา: ฟุตบอล, ไตรกีฬา 





                   ถึงแม้ว่าผมจะนิยมในการร่วมฝึกซ้อมฟุตบอลและไตรกีฬาแต่ก็ยังสามารถให้บริการกายภาพบำบัดให้กับนักกีฬาอื่นๆได้อีกเช่นเทนนิส, กอล์ฟ, วอลเล่ยบอล, แบดมินตัน, เวคบอร์ด, กระดานโต้คลื่น และกีฬาอื่นๆได้อีกหลายชนิดกีฬา

                   ผมหวังว่าความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ผมมีจะพอช่วยแก้ปัญหาทางกล้ามเนื้อและข้อต่อให้ท่านได้กลับไปทำงานและเล่นกีฬาได้อย่างปกติสุขและมีสุขภาพที่ดีได้ 

                   ขอฝากเนื้อฝากตัว blog น้องใหม่ไว้ในดวงใจทุกท่านไว้ด้วยนะครับ

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...