วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565

กล้ามเนื้อขาไม่เท่ากันเป็นยังไง

 

มีผู้ป่วยถามมาทาง in box ว่า 

"กล้ามเนื้อขาข้างที่บาดเจ็บดูเหมือนเล็กลงจริงรึเปล่า?"


                โดยปกติขนาดขาของคนเราจะเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมาก ปัจจัยที่ทำให้ขนาดของขามีความแตกต่างกันเช่นเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือยาวนาน การฝึกซ้อมกีฬาโดยใช้ขาไม่เท่ากัน การบาดเจ็บเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่างหรือขา เป็นต้น


   ขนาดที่เล็กลงมักจะเป็นขนาดของกล้ามเนื้อที่หายไป ในกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บทำให้มีโอกาสที่ขนาดกล้ามเนื้อเล็กลงได้ เมื่อบาดเจ็บจะทำให้ลงน้ำหนักไม่ไหวทำให้กล้ามเนื้อขาไม่ถูกใช้งาน อะไรในร่างกายเราที่ไม่ใช้งานมันก็มักจะมีขนาดเล็กลงไปโดยธรรมชาติ กลไกนี้เรียกว่า disuse atrophy (disuse = ไม่ใช้, atrophy = ลีบฝ่อ) ตามประสบการณ์ทางคลินิกของผมจะพบกล้ามเนื้อเริ่มลีบฝ่อหลังจากบาดเจ็บประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นคนที่ได้รับการผ่าตัดหัวเข่าเช่นผ่าเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าก็อาจจะลีบฝ่อเร็วขึ้นอีกนิดหน่อย ทั้งนั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนร่างกายเดิมของผู้ป่วยด้วย หากใครที่สะสมกล้ามเนื้อไว้มากก็มีโอกาสลีบน้อยหรือช้าลง

ภาพจาก https://www.pinterest.com



                ส่วนผู้ป่วยที่บาดเจ็บเส้นประสาทโดยเฉพาะตรงไขสันหลัง เราอาจจะพบการลีบฝ่อได้ภายในไม่กี่วันหรือถ้าต้นทุนร่างกายมากหน่อยก็จะพบการลีบฝ่อช้าลง การบาดเจ็บประเภทนี้จะทำให้กล้ามเนื้อลีบฝ่อเร็วกว่าการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหรือเอ็นเพราะว่าไม่มีกระแสประสาทส่งมาเลี้ยงให้กล้ามเนื้อได้ทำงาน บวกกับเมื่อไม่สามารถขยับได้กล้ามเนื้อก็ไม่ได้ใช้งาน เท่ากับมีอย่างน้อย 2 ปัจจัยที่ส่งเสริมกันทำให้กล้ามเนื้อลีบฝ่อ


                การวัดขนาดกล้ามเนื้อโดยดูจากความหนาหรือเส้นรอบวงของกล้ามเนื้อสามารถทำได้หลายวิธีทั้งที่วิธีที่ราคาแพงไปจนถึงวิธีที่ราคาถูกและสามารถทำที่บ้านได้เอง 


                ขอเริ่มเล่าแบบเล่นใหญ่อลังการทั้งเครื่องมือและค่าใช้จ่ายด้วยการใช้ Magnetic resonance imaging (MRI) ที่ทำให้เห็นขนาดกล้ามเนื้อ ปริมาตรของกล้ามเนื้อ และความหนาของกล้ามเนื้อ เมื่อได้ภาพถ่ายที่เป็นภาพตัดขวางมาแล้วมาแล้วก็สามารถวัดขนาดได้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เลย เพราะว่าร่างกายเราไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อ มันยังประกอบไปด้วยไขมันและกระดูกด้วย วิธีการนี้จึงสามารถวัดความหนาของกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจนรวมถึงวัดขนาดแยกมัดกล้ามเนื้อแต่ละมัดได้เลย แต่วิธีนี้ไม่สามารถคำนวณน้ำหนักของกล้ามเนื้อได้ หากไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายก็น่าจะสามารถไปขอรับบริการนี้ได้ตามโรงพยาบาลเอกชน และโดยประสบการณ์ของผมที่อยู่โรงพยาบาลเอกชนมานาน เราก็ไม่ใช้วิธีการนี้ในการวัดขนาดของกล้ามเนื้อเพราะมีขั้นตอนมาก ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลานาน ไม่คุ้มค่าที่จะรู้แค่ตัวเลขความหนาของกล้ามเนื้อ

ภาพตัดขวางกล้ามเนื้อต้นขา (Hioki M., et al. 2014)


               ลดเบอร์การเล่นใหญ่ลงมาเล็กน้อยด้วยใช้เครื่องมือในตระกูลภาพถ่ายทางรังสีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry หรือ DEXA เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดน้ำหนักเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่มีความแม่นยำของการวัดสูง ส่วนมากเราจะเห็นการใช้ในงานวิจัยมากที่สุดแต่ก็มีการใช้ในโรงพยาบาลบ้าง เครื่องนี้จะบอกน้ำหนักและปริมาตรรวมของร่างกายและบอกแยกแต่ละส่วนของร่างกายได้ รายละเอียดลึกลงไปสามารถแยกน้ำหนักของกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ และอื่นๆ ได้ด้วย ดังนั้นทำให้เราได้ข้อมูลตัวเลขน้ำหนักมาอนุมานให้เป็นขนาดของกล้ามเนื้อ คือกล้ามเนื้อใหญ่น่าจะมีน้ำหนักมาก ราคาค่าใช้จ่ายสำหรับวิธีการนี้ก็น่าจะมีราคาค่อนข้างสูงสำหรับถ้าแค่อยากรู้ขนาดของกล้ามเนื้อ

เครื่อง DEXA
              


              จากราคาที่ค่อนข้างสูงของ DEXA ก็ได้มีนวัตกรรมที่ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และขั้นตอน ที่ยังอาศัยหลักการของการวัดองค์ประกอบมวลการแบบ DEXA ก็คือเครื่อง Bioelectrical Impedance Analysis หรือ BIA การทำงานของเครื่องนี้เป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆหลายความถี่เข้าไปในร่างกายแล้วเครื่องก็นำไปแปลผลออกมาเป็นตัวเลข เครื่องนี้จะทำให้เราได้ข้อมูลตัวเลขน้ำหนักเนื้อเยื่อต่างๆออกมาแบบเครื่อง DEXA แต่ก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มากกว่า ยังไงก็ตามวิธีการนี้ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันไม่ว่าจะใช้ในการทำวิจัย ใช้ในโรงพยาบาล หรือใช้ในสถานออกกำลังกายฟิตเนส เครื่องมีขนาดเล็กเคลื่อนย้ายง่ายซึ่งต่างกับ DEXA ที่มาขนาดใหญ่เท่าๆกับเตียงนอน วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ใช้เวลาน้อย และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เป็นวิธีการนึงที่ผมเคยใช้ตอนสมัยทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในขั้นตอนนึงที่ใช้การเช็คความพร้อมผู้ป่วยผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าก่อนกลับไปเล่นกีฬา


เครื่อง BIA ยี่ห้อ TANITA (ภาพจาก https://asgwellness.com/)



                และยังมีวิธีการใช้เครื่อง Ultrasound image หรือ Sonography ในการวัดขนาดของกล้ามเนื้อได้ด้วย เครื่องนี้ก็คือเครื่องที่เราเอาไว้ใช้ดูเด็กทารกในท้องแม่ที่มีคนนำมาประยุกต์ใช้กับกล้ามเนื้อด้วย วิธีการนี้เป็นที่นิยมพอสมควรเพราะใช้ง่าย ขั้นตอนไม่มาก มีโปรแกรมวัดขนาดในตัว รู้ผลเหมือนถ่ายทอดสด แต่ก็เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้บุคลากรที่ถูกฝึกมาเฉพาะทางเช่นแพทย์สูตินรีก็จะชำนาญในการดูทารกและระบบสือพันธุ์เพศหญิง หรือแพทย์รังสีและแพทย์กระดูกก็จะชำนาญในการดูกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น เป็นต้น ปัจจุบันนี้นักกายภาพบำบัดเริ่มนำเครื่องมือนี้มาใช้ในกระบวนการตรวจร่างกายบ้างแล้ว วิธีการนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายได้แก่ในงานวิจัย ในโรงพยาบาล และในคลินิกบางแห่ง หากมีความจำเป็นจริงๆผมก็อยากแนะนำวิธีการนี้




ภาพความหนาของกล้ามเนื้อจากเครื่อง Sonograpy และเส้นวัดระยะความหนา (Barotsis N., et al., 2020)


                วิธีการวัดขนาดกล้ามเนื้อไม่ใช่มีแค่วิธีการที่เสียเงินนะครับ วิธีการที่ไม่เสียเงินก็มีหรือถ้าต้องจ่ายก็ถือว่าน้อยมา วิธีการนี้ผมใช้ตั้งแต่ทำงานในโรงพยาบาลจนมาทำงานที่คลินิกก็ยังเป็นวิธีที่นิยมสำหรับผมเพราะว่าไม่ต้องลงทุนเครื่องมือราคาสูง ไม่เปลืองพื้นที่เก็บ ไม่ต้อง update software ไม่ต้องมีขั้นตอนมาก แต่ก็พอได้ข้อมูลมาวางแผนการรักษาให้ผู้ป่วยได้ นั่นก็คือการใช้สายวัดตัวธรรมดา วิธีการแสนง่ายที่ผู้อ่านสามารถทำเองที่บ้านได้เลยด้วยการให้ผู้ป่วยยืนตรงหรือนอนหงาย ใช้สายวัดคาดรอบบริเวณร่างกายที่ต้องการวัดโดยที่จะต้องเป็นบริเวณที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และทำการวัดทั้ง 2 ข้าง แต่ละข้างที่วัดแนะนำให้วัดซ้ำ 2 - 3 ครั้ง ข้อมูลตัวเลขที่ได้มาสามารถนำไปอนุมานได้ว่ามีมีกล้ามเนื้อลีบฝ่อหรือขาไม่เท่ากันหรือไม่ 

ภาพการวัดเส้นรอบวงกล้ามเนื้อต้นขา (Laupattarakasem W., et al., 2012)


                ถึงแม้ว่าเป็นการวัดจากภายนอกไม่ได้วัดจากภายในเหมือนวิธีข้างต้นจะทำให้การตีความขนาดกล้ามเนื้อคลาดเคลื่อน จากประสบการณ์ของผมพบว่าต่อให้ใช้วิธีนี้วัดในคนที่มีขนาดร่างกายกว้างใหญ่ที่มีกล้ามเนื้อลีบฝ่อก็จะพบว่าความยาวเส้นรอบวงที่ได้ก็มีความแตกต่างให้เห็น นอกจากนี้รูปร่างลักษณะกล้ามเนื้อที่ลีบฝ่อก็จะไม่นูนเหมือนกล้ามเนื้อปกติ 

กล้ามเนื้อต้นขาข้างซ้ายลีบฝ่อ
(ภาพจาก https://successwithsahil.com/muscle-atrophy-causes-and-how-to-avoid-fitness-volt/)


                กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างมีโอกาสจะเท่ากัน 100% ได้ โดยปกติจะพบว่ากล้ามเนื้อข้างถนัดจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยในการวัดด้วยสายวัดหรือ MRI แต่ถ้าวัดด้วย DEXA และ BIA จะมีน้ำหนักมากกว่านิดหน่อย แต่กรณีที่การวัดด้วยสายวัดมีความแตกต่างกันตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป หรือถ้าวัดด้วยวิธีองค์ประกอบมวลกายที่มีน้ำหนักต่างกันตั้งแต่ 10% ขึ้นไป จะต้องระวังการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อเนื่องจากเป็น imbalance โดยมีทางป้องกันคือออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้างที่อ่อนแอกว่าให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับอีกข้างหนึ่ง

                กลับไปตอบคำถามข้างบนให้ผู้ป่วยคนนี้ด้วยการส่งยูทูปวิธีการวัดเส้นรอบวงกล้ามเนื้อต้นขาไปให้พร้อมกับอธิบายว่า (1) เส้นรอบวงที่วัดได้จะต้องห่างกันไม่เกิน 1 นิ้ว น้ำหนักที่ใช้ในการออกกำลังกายควรจะน้อยกว่าขาข้างปกติไม่เกิน 10% และสามารถเริ่มไปตีเทนนิสที่ชอบได้โดยเริ่มจากเล็กๆน้อยๆก่อนอย่าพึ่งหักโหมในทีเดียว


เอกสารอ้างอิง

Hioki M., et al. Estimation of muscle atrophy based on muscle thickness in knee surgery patients. Clin Physiol Funct Imaging (2014) 34, pp183–190. 

Laupattarakasem W., et al. The Relevant Level to Estimate Girth Difference between Thighs after Anterior Cruciate Ligament Deficiency. J Med Assoc Thai 2012; 95 (Suppl. 10): S178-S183. 

Combest T M., et al. Comparison of Circumference Body Composition Measurements and Eight-Point Bioelectrical Impedance Analysis to Dual Energy X-Ray Absorptiometry to Measure Body Fat Percentage. MILITARY MEDICINE, 182, 7/8:e1908, 2017

Barotsis N., et al. Reliability of muscle thickness measurements in ultrasonography. International Journal of Rehabilitation Research XXX: 000–000. 


                


                



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...