วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

ความยาวขาไม่เท่ากัน (Leg Length Discrepancy; LLD)

  •  นิยามของ LLD มี 2 ความหมายตามประเภทของการเกิด

        (1) True leg length discrepancy (TLLD) คือความแตกต่างระหว่างของความยาวขา 2 ข้าง ซึ่งหมายถึงความยาวของกระดูกขาที่ไม่เท่ากัน ความผิดปกติสามารถเกิดได้ตั้งแต่เกิดหรือภายหลังที่เกิดมาแล้วเช่นกระดูกหัก ความเสื่อมของกระดูกหรือข้อต่อ การเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพก โรคบางโรค เป็นต้น 

        (2) Functional leg length discrepancy (FLLD) คือสภาวะของความยาวขาไม่เท่ากันที่ไม่ได้เกิดจากความยาวของกระดูกที่ไม่เท่ากัน แปลได้ว่ากระดูกขามีความยาวเท่ากันแต่มีสาเหตุที่ทำให้ดูเหมือนไม่เท่ากันเช่นการหดสั้นของข้อต่อ แกนหมุนของกระดูกอยู่ผิดแนวจากปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหดสั้น ทั้งหมดเกี่ยวกับกลไกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ตัวอย่างวิธีการตรวจหาความผิดปกตินี้สามารถใช้วิธีการ x-ray เป็นต้น   


  • วิธีการตรวจ LLD ในปัจจุบัน (2017) 

(1) การใช้ภาพถ่ายทางรังสี

                วิธีการนี้สามารถบอกความยาวของกระดูกได้อย่างชัดแจ้งแจ่มแจ๋ว หากมีความจำเป็นจริงๆหรือผู้ป่วยมีเงินและสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก็สามารถเลือกวิธีตรวจนี้ได้ ส่วนมากก็จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่วิธีการนี้ใช้ได้สำหรับการวัดความยาวขาขณะอยู่นิ่งๆเท่านั้น ไม่สามารถวัดความยาวขาขณะเคลื่อนไหวได้ เทคนิคเหล่านี้ได้แก่ radiographs, scanograms, computerized digital radiographs และ computerized tomography (CT)

ภาพถ่ายรังสี X-ray เพื่อตรวจความยาวขาและการเอียงของกระดูกเชิงกราน
(จาก https://josr-online.biomedcentral.com/articles/10.1186/s13018-019-1139-4/figures/2)

(2) วิธีการ Direct clinical method

                วิธีการนี้ผมใช้เป็นขั้นตอนมาตราฐานในการตรวจความยาวขาคือการใช้สายวัดตัวธรรมดาๆ เริ่มต้นด้วยการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้ววัดจาก anterior superior iliac spine (ASIS) ไปถึงปลายของตาตุ่มด้านนอกของขาแต่ละข้างแล้วเอามาเทียบกัน เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในคลินิกมากแต่ก็ไม่ได้แม่นยำเท่ากับวิธีการวัดจากภาพถ่ายรังสี ความแตกต่างที่ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 1 นิ้ว ขึ้นไปถือว่าเกิด Pathology แล้ว ต้องพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้

                วิธีการนี้ก็สามารถทำกันเองที่บ้านได้ ASIS เป็นปุ่มกระดูกเชิงกรานอยู่ทางด้านหน้า หาตำแหน่งคร่าวๆด้วยการให้ผู้ป่วยใช้มือเท้าเอว โดยปกติปลายนิ้วชี้ของผู้ป่วยจะอยู่ที่ ASIS ในคนผอมจะหาง่ายกว่าคนที่เจ้าเนื้อ ส่วนตาตุ่มด้านนอกค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว 


(3) วิธีการ Indirect clinical method

        ใช้วิธี Block method โดยให้ผู้ป่วยยืนและใช้ขาข้างสั้นเหยียบบล็อคที่มีความสูงระบุไว้จนกระทั่งกระดูกเชิงรานอยู่ในแนวระนาบไม่เอียงซ้ายหรือขวา

ภาพจาก https://www.columbiaasia.com/malaysia/health-articles/limb-deformity-length-discrepancy 




  • ผลกระทบของ LLD

                LLD เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและคุณภาพชีวิตมากมายหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น LLD ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกการเคลื่อนไหวของเชิงกรานและขา มันอาจเป็นสาเหตุทำให้กระดูกเชิงกรานเอียงด้านข้างซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด เกิดการบิดของข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อกระดูกเชิงกราน ลักษณะท่าทางผิดรูปบิดเบี้ยวไม่ตรงและสมมาตร เดินไม่เท่ากันแบบคนขาเป๋ อาการปวดหลังเพราะกล้ามเนื้อและข้อต่อต้องทำงานผิดเพี้ยนไปจากปกติสามารถปวดตั้งแต่เอวไปจนถึงคอ หรืออาจจะเกิดกระดูกหักประเภท Stree fracture ซึ่งพบได้บ่อยที่กระดูกหน้าแข้ง กระดูกตาตุ่ม และกระดูกต้นขา โดยส่วนมากจะเกิดการหักที่ขาข้างยาว ความยาวขาที่ยิ่งแตกต่างกันมากก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเกิดกระดูกหัก

               

ขาซ้ายยาวกว่าทำให้เชิงกรานซ้ายเอียกขึ้นสูงกว่าข้างขวาและส่งผลให้กระดูกสันหลังคด
(ภาพจาก https://ukgamefair.wordpress.com/2014/10/02/but-everybody-has-a-short-leg/)


                จากประสบการณ์ทางคลินิกของผม พบผู้ป่วยที่มีความสั้นยาวของขาไม่เท่ากัน บางคนก็รู้มาก่อนแล้ว บางคนก็มารู้ตอนที่ผมตรวจร่างกาย อาการที่นำมาหาผมมีความหลากหลายมากเช่น ไหล่ไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคด ปวดคอ ปวดสะบัก ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่า บางคนมาแค่อาการเดียว บางคนพกอาการมาให้แก้ไขมากกว่า 1 อาการ จุดเด่นที่ทำให้ผมเลือกตัดสินใจวัดความยาวขาคือพบกระดูกสันหลังคดและ/หรือกระดูกเชิงกรานเอียง 

                ขั้นตอนแรกในการตรวจคือการดูด้วยตาและคาดคะเนว่าขาข้างที่ยาวกว่าคือข้างที่กระดูกเชิงกรานเอียงขึ้นสูงกว่า วิธีการนี้อาจจะหลอกตาก็ได้แต่ก็ต้องเก็บไว้เป็นข้อมูลก่อนเพราะว่ายังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้กระดูกเชิงกรานเอียงได้เช่นกล้ามเนื้อสะโพกไม่มีแรง เท้าแบนข้างเดียว เข่าฉิ่งหรือเข่าโก่ง 

แม้แต่การนั่งไขว่ห้างหรือการยืนลงน้ำหนักไม่เท่ากันเป็นประจำ

                จากนั้นผมจะให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วผมก็ใช้สายวัดตัวธรรมดาๆวัดความยาวขาตามที่เล่าไว้ข้างต้น ในการวัดด้วยวิธีนี้ผมจะต้องสังเกตการหมุนของกระดูกเชิงกรานไปด้วยโดยการสังเกตตำแหน่งของ ASIS ว่าสมมาตรกันหรือไม่ ขาแต่ละข้างจะวัดประมาณ 2 - 3ครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาด



ภาพจาก https://quizlet.com/239650281/thigh-groin-and-hip-anatomical-alignment-flash-cards/ 


                จากนั้นผมจะให้ผู้ป่วยนอนชันเข่าทั้ง 2 ข้าง จัดให้ปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง เสมอกันแล้วเอาไม้บรรทัดระดับน้ำวางที่สะบ้าเข่าเพื่อดูว่าขาข้างไหนสูงกว่ากัน เป็นการช่วยนำไปยืนยันการวัดด้วยสายวัด




ภาพจาก https://www.surgeryjournal.co.uk/article/S0263-9319(19)30261-3/fulltext 



                การวัดที่เล่ามาถึงตรงนี้มองได้ว่าเป็นการวัดในนามการนิยามของ  True leg length discrepancy คือการวัดความยาวกระดูกจริงๆ แต่เหมือนร่างกายคนเราสามารถเล่นกลได้ที่ทำให้ความยาวขายืดยาวออกมาได้หรือหดสั้นได้จากกลไกการเคลื่อนไหวร่วมกันของกล้ามเนื้อและข้อต่อ การตรวจร่างกายของผมก็เลยยังไม่หมดครับ ผมต้องตรวจในนิยามของ Functional leg length discrepancy ด้วยซึ่งวิธีการทางกายภาพบำบัดที่ผมใช้มีดังนี้

                ให้ผู้ป่วยนอนหงายชันเข่า ผมจัดตำแหน่งให้ปลายเท้าอยู่เสมอกัน ใช้ปากกาธรรมดาขีดเส้นตรงเล็กๆไว้ของล่างของตาตุ่มด้านในทั้ง 2 ขา แล้วให้ผู้ป่วยยกสะโพกขึ้นลง 2 ครั้ง แล้วผมก็จับให้ขาทั้ง 2 ข้างเหยียดตรงพร้อมกัน แล้วดูขีดปากกาว่าอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่

                ขั้นตอนต่อไปเป็นการดูการหมุนของปีกกระดูกเชิงกรานที่เรียกว่า ilium ว่ามีส่วนในการเล่นกลกับเราหรือไม่ด้วยการทำวิธีเมื่อกี้ซ้ำแต่เพิ่มตอนจบด้วยการจับให้ผู้ป่วยนั่งเหยียดขาตรงแล้วดูว่าระดับของขีดปากกาเปลี่ยนไปยังไง ขาข้างไหนหดสั้นหรือข้างไหนยาวออกหรือมันก็อยู่ของมันอย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

                  ผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีสาเหตุขาสั้นยาวเพียงอย่างเดียวถ้าไม่ true ก็ functional มีน้อยรายที่พกมาด้วยทั้ง 2 อย่าง ในการให้การรักษาทางกายภาพบำบัดของผมในคลินิกจะเน้นไปทาง functional เกือบทั้งหมดเพราะกายภาพบำบัดไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ ผู้ป่วยที่มาที่คลินิกส่วนมากจะเป็นคนเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ถ้าความยาวขาต่างกันไม่มาก (ประมาณไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ผมจะแนะนำให้หาซื้อแผ่นรอง (insole) มาเสริมเองได้ การเสริมรองเท้าในมุมมองของผมจะต้องช่วยแก้ไขอาการเจ็บปวดและ performance ของผู้ป่วย หากการเสริมรองเท้าเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยแล้วซ้ำยังทำให้ performance ลดลงก็จะไม่ทำ ต้องยอมปล่อยให้นักกีฬาใช้ความเคยชินแบบนั้นในการทำ performance ไปก่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความแตกต่างมากเกิน 1 เซนติเมตร ผมจะแนะนำให้ไปพบแพทย์กระดูก (Orthodedist) หรือแพทย์ชำนาญการเท้า (Podiatrist) เพื่อหาวิธีแก้ไขให้ได้ดีที่สุดร่วมกับการทำกายภาพบำบัดไปด้วยหากจำเป็น ยังไงก็ตามหากผู้ป่วยได้รับการเสริมรองเท้าหรือตัดรองเท้าพิเศษที่ทำให้รู้สึกไม่ชิน จะต้องฝึกใช้แผ่นเสริมหรือรองเท้านั้นให้ชินให้ได้       

แผ่นรองรองเท้าพิเศษ

รองเท้าเสริมความสูงของพื้นรองเท้า

   


เอกสารอ้างอิง

Sam Khamisa, Eli Carmeli. A new concept for measuring leg length discrepancyใ Journal of Orthopaedics 14 (2017) 276–280

Ahmed A K. Leg Length Discrepancy: Assessment and Secondary Effects. Ortho & Rheum Open Access 2017; 6(1): 555678. DOI: 10.19080/OROAJ.2017.06.555678.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...