กายภาพบำบัดเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่งที่ให้บริการดูแลทั้งทางด้านการรักษาและฟื้นฟูร่างกายที่เจ็บปวดหรือทุพลภาพ ด้านการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคในผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงเช่นซ้อมกีฬาอย่างหนักหรือการหกล้มในผู้สูงอายุ และด้านการส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วมีสุขภาพดีมากขึ้นไปอีกจะเห็นได้ว่างานกายภาพบำบัดมีความกว้างมากและสามารถแทรกเข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตคนเราได้แทบทุกสภาวะ
ด้วยความกว้างมากและสามารถแทรกเข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตคนเราได้แทบทุกสภาวะนี่แหละครับที่ทำให้เราอธิบายตัวตนและงานของเราได้ไม่เฉพาะเจาะจงอย่างที่บางอาชีพเขาอธิบายกันได้เช่นเภสัชกร นักบัญชี เป็นต้น หากต้องการทำความเข้าใจเส้นทางของนักกายภาพบำบัด สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ใน https://rehabcompanion.blogspot.com/2022/02/blog-post_25.html
วิธีให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกายภาพบำบัดมีหลักการง่ายๆ 2 อย่างคือ1. การเล่าเรื่องและใจเย็นตอบคำถามของนักกายภาพบำบัดไปเรื่อยๆ การสนทนากับเราจะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น วิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และวางแผนการรักษาได้ถูกต้องมากขึ้น นอกจากจะลดอาการของผู้ป่วยได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลาและเงินในการรักษาด้วย 2. การออกแรงฝึกตามที่นักกายภาพบำบัดออกแบบวางแผน
บทสนทนาของเราจะเริ่มต้นด้วยขั้นตอนที่เรียกว่าการซักประวัติ
คำถามทางคลินิกยอดนิยมของเรามักจะเป็นประมาณนี้
- มีอาการอะไรถึงมาหาเรา?
- อะไรที่น่าจะทำให้เกิดอาการนี้?
- มีอาการมากี่วันแล้ว?
- มีอาการเป็นๆหายๆหรือว่าอาการคงที่?
- อะไรที่ทำให้อาการแย่ลง?
- อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้น? กินยาอะไรไปบ้าง?
- ได้รับการรักษาอะไรมาก่อนหรือไม่? เคยไปหาหมอด้วยปัญหานี้มาก่อนหรือไม่? หมอมีความเห็นว่ายังไง?
- คาดหวังผลการรักษาเป็นอย่างไร?
และคาดหวังว่าอยากใช้เวลาเท่าไหร่? (คำถามนี้ผู้ป่วยอาจจะงงได้แต่ยังไงก็ตอบมาก่อน
ไม่มีผิดไม่มีถูก เดี๋ยวเรายังต้องผ่านขึ้นตอนอะไรบางอย่างอีกพอสมควรแล้วจะทำให้คำตอบชัดเจนขึ้น)
และยังอาจจะมีคำถามอื่นๆอีกเพื่อที่จะมาช่วยทำให้ทิศทางการตรวจร่างกายที่เราจะต้องทำเป็นขึ้นตอนต่อไปชัดเจนยิ่งขึ้น
หากผู้ป่วยให้ข้อมูลกับเราน้อยเกินไปหรือใจร้อนไม่อยากตอบแล้ว
จะทำให้เราต้องเดาทิศทางการตรวจร่างกายไปต่างๆนานาซึ่งอาจจะทำให้ใช้เวลาในการตรวจร่างกายนานและได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน
ขั้นตอนถัดมาคือการตรวจร่างกายซึ่งตัวอย่างคำถามในการตรวจร่างกายเช่น
- กดตรงนี้เจ็บมั้ยหรือตึงมั้ย?
- ขยับข้อต่อนี้ตึงมั้ย ติดมั้ย เจ็บมั้ย?
- ทำท่านี้ตามผมแล้วมีอาการเจ็บมั้ย?
- มีอาการชาบริเวณไหนบ้าง
ช่วยชี้ให้ละเอียด?
เมื่อตรวจร่างกายเสร็จเราก็เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา
ในขณะที่ทำการรักษานักกายภาพบำบัดอาจจะมีการสอบถามเป็นระยะเพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร
นักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาตามแผนเดิมหากมีการตอบสนองที่ดี และนักกายภาพบำบัดจะเปลี่ยนแผนการรักษาอย่างรวดเร็วหากมีการตอบสนองที่ไม่ดี ในย่อหน้านี้จะเห็นได้ว่ามีการใช้หลักการข้อ 1 และข้อ 2 เช่นหากนักกายภาพบำบัดใช้เครื่อง ultrasound ในการรักษาแล้วผู้ป่วยรู้สึกปวดมากขึ้น เราก็จะต้องรีบปรับกลยุทธในการรักษา หรือเช่นการยืดกล้ามเนื้อ หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บมากขึ้น เราจะต้องปรับเป็นค่อยๆยืดทีละนิด เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งที่รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังแต่ไม่ร้าวลงขา ผู้ป่วยรายนี้ให้ประวัติได้ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ค่อยได้สังเกตตัวเอง การตรวจร่างกายชี้มาทางที่ว่าจะใช้การรักษาด้วยการออกกำลังกายหลังในทิศทางแอ่นหลัง เมื่อทำไปสักพักมาเช็คอาการดูปรากฏว่ารู้สึกแย่ลงและหลังเเข็งมากขึ้น ผมจึงลองเปลี่ยนมาเป็นการออกกำลังกายในทิศทางนั่งแล้วก้มตัว เมื่อทำไปสักพักมาเช็คอาการซ้ำปรากฏว่าสบายขึ้นและมุมการเคลื่อนไหวของลำตัวดีขึ้นมาก อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างนึงในประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี
ที่เล่าให้ฟังคราวนี้เป็นประสบการณ์ในการทำงานของผมเอง
หลายๆครั้งที่ต้องอธิบายคำถามและแจ้งวัตถุประสงค์ในการถามเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการทำงานของเรา
นานๆครั้งก็จะมีผู้ป่วยที่ไม่อยากบอกอะไรมากโยนภาระทั้งหมดมาให้เราประมาณว่าฉันเอาตัวมาแล้วคุณก็รักษาไปสิ
ด้วยจรรยาบรรณ์ผมก็ต้องหาจังหวะและโอกาสในการค่อยๆละลายกำแพงลงจนสามารถทำงานตามกระบวนการของเราได้
ผู้ป่วยประเภทแบบนี้มักทำให้ผมหายใจไม่ค่อยทั่วปอด
ตรงกันข้ามเลยก็มีบางรายที่ชอบการสนทนาคุยสนุกขำกันจนปอดโยกก็ต้องคอยตัดบทเพราะเดี๋ยวจะไม่เหลือเวลาที่จะตรวจและรักษา
“ดังนั้นผู้ป่วยต้องใจเย็นแล้วคอยตอบคำถามของนักกายภาพบำบัดเรื่อยๆเพื่อประโยชน์ในการรักษา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น