วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565

Chiropractic vs. Physiotherapy: นักจัดกระดูก vs. นักกายภาพบำบัด

 "เวลาที่คุณปวดหลังปวดคอคุณนึกถึงใครขึ้นมาบ้าง"

 



        จากประสบการณ์ของผมที่ได้ฟังคำตอบจากหลายๆคนจึงได้มามากกว่า 1 คำตอบ บางคนก็นึกถึงหมอกับการกินยาเป็นคนแรก บางคนก็นึกถึง massage therapist เป็นคนแรก บางคนคนก็นึกถึงนักกายภาพบำบัดเป็นคนแรก บางคนก็นึกถึงนักจัดกระดูกเป็นคนแรก

        ไขข้อสงสัยแรกก่อนว่าคำตอบไหนถูกต้องที่สุด.............ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดครับ คำตอบอยู่หลังจากที่ไปรับบริการแล้วอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีช่วงเวลาอาการปวดจนทนไม่ไหวต้องหาคนรักษาที่แตกต่างกัน เช่น


กล้ามเนื้อหลังเกร็งเป็นลำในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่าง

        ในกรณีที่ปวดปุ๊บแล้วรีบรักษาเลย (เรียกว่าช่วง acute) แนะนำว่าไปพบแพทย์เพื่อกินยาแล้วพักจะดีที่สุดหรือไปพบนักกายภาพบำบัดด้วยก็ได้เพื่อเสริมการรักษาบางอย่างให้บริเวณที่เจ็บปวดสบายขึ้นเช่นประคบน้ำแข็งและติดเทปกาวทางการกีฬาเพื่อประคองบริเวณนั้น 

        ในกรณีที่ปวดมาสักพักแล้วพึ่งจะทนไม่ไหวไปรักษาดีกว่า (เรียกว่าช่วง sub - acute) แนะนำว่าไปพบแพทย์และกินยาก็ช่วยได้พอสมควรแต่ก็อาจจะไม่ใช่ชวงเวลาที่ดีที่สุดในการกินยา ส่วนการไปหานักกายภาพบำบัดหรือ massage therapist หรือนักจัดกระดูกจะเป็นช่วงเวลาที่ดีกว่าช่วง acute

        ในกรณีที่ปวดนานเกิน 3 เดือน (เรียกว่าช่วง chronic หรือเรื้อรัง) แนะนำว่าไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเช่น x-ray หรือ MRI แล้ววางแผนการรักษาเช่นผ่าตัด กินยา หรือกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะวิเคราะห์และวางแผนการรักษาต่อหรือสามารถให้คำแนะนำส่งต่อไปพบนักจัดกระดูกและ massage therapist ได้ด้วย

        ผมเดาว่าบางคนรู้สึกว่าเรื่องใหญ่เรื่องยาวจังทำไมต้องไปหาหลายคนขนาดนี้ ผมมีทริกเล็กๆน้อยๆมาแนะนำครับ ลักษณะอาการเด่นๆที่จะไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดคือปวดมาก บวม ร้อน รู้สึกบริเวณที่ปวดเต้นตุบๆ ส่วนลักษณะอาการเด่นๆที่จะไปพบ massage therapist คือกล้ามเนื้อมีอาการปวดตึงและหลังแข็งคอเเข็ง ส่วนลักษณะเด่นๆที่จะไปพบนักจัดกระดูกคือกระดูกสันหลังล็อค ติดขัดอยากจะสะบัดให้มันดังกึก อย่างไรก็ตามหากรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องกลับไปเริ่มต้นด้วยการพบแพทย์ตามขั้นตอนมาตราฐานของระบบสุขภาพบ้านเรา





  • นักจัดกระดูกหรือ Chiropractor เป็นใคร?

        อ้างอิงย้อนไปถึงปี 1897 นาย Daniel David Palmer ได้พูดถึงการจัดกระดูกหรือ chiropractic ว่าเป็น"วิทยาศาสตร์ของการรักษาโดยไม่ใช้ยา" ซึ่งในวันนี้คำนิยามนี้ได้เปลี่ยนไปเป็น "ทางเลือกในการดูแลสุขภาพ" ศาสตร์นี้เป็นที่นิยมมากในประเทศสหรัฐอเมริกาจนมีมูลค่าการตลาดสูงถึงระดับพันล้านเหรียญเลยทีเดียว 

        แนวคิดหลักของศาสตร์จัดกระดูกประกอบไปด้วย

        (1) การเคลื่อนไหวทำงานของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างกระดูกสันหลังและสุขภาพที่ดีผ่านระบบประสาท

        (2) กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ

        (3) แก้ไขกระดูกสันหลังที่เคลื่อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติด้วยการดัดกระดูกสันหลัง

        ดังนั้นนักจัดกระดูกน่าจะนิยามได้ว่าเป็นผู้ให้การรักษาทางเลือกในการดูแลสุขภาพโดยไม่ใช้ยาแต่ใช้การดัดกระดูกสันหลังส่งผลให้ระบบประสาททำงานดีขึ้นเพื่อการทำงานเคลื่อนไหวร่างกายที่ดี




  • วิธีการรักษาของนักจัดกระดูก

        ต้องยอมรับว่านักจัดกระดูกมีความรู้ลึกและมีประสบการณ์มากเกี่ยวกับ "ข้อต่อ" กระดูกสันหลัง ดังเช่นหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้น ในกระบวนการดัดหรือจัดกระดูกสันหลังเป็นการเคลื่อนที่ของข้อต่ออย่างรวดเร็วในมุมสั้นๆจึงมักทำให้เกิดเสียงลั่นของข้อดังกึก หากใครอยากรู้ว่าดังยังไงลองหักข้อนิ้วดูครับ เสียงประมาณนั้นเลย อุปกรณ์ที่ใช้หลักๆก็จะเป็นตัวนักจัดกระดูกกับเตียงที่ตอนนี้พัฒนามาให้ช่วยทุ่นแรงได้มาก สำหรับผู้ป่วยที่ไปรักษาก็แต่งตัวแบบชุดกีฬาได้ครับ ถ้าเป็นผู้ชายก็ง่ายมากอาจจะถอดเสื้อเลยถ้าจำเป็น ถ้าเป็นผู้หญิงก็แนะนำให้ใส่ Sport bar ไปด้วยเผื่อต้องถอดเสื้อตัวนอกออก


ตัวอย่างการดัดข้อต่อกระดูกคอของ chiropractor

ตัวอย่างการดัดข้อต่อกระดูกช่วงอกของ chiropractor

ตัวอย่างการดัดข้อต่อกระดูกหลังส่วนล่างของ chiropractor


  • วิชาการของการจัดกระดูก

        ถึงแม้ว่าการจัดกระดูกจะมีช่องว่างระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันอยู่พอสมควร แต่สมาชิกนักจัดกระดูกทั้งหลายก็พยายามรวมตัวกันทำผลงานวิชาการต่างๆออกมาแบบเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบันแขนงต่างๆ เราสามารถพบวารสารวิชาการของนักจัดกระดูกทั้งที่เป็นบทความและการวิจัยได้มากพอสมควร ซึ่งผมก็ได้ประโยชน์จากความรู้เหล่านั้นไม่น้อยเลยครับ


  • นักจัดกระดูกแตกต่างกับนักกายภาพบำบัดอย่างไร

        ในประเทศไทยการจะจัดตั้งบริการจัดกระดูกในคลินิกใดๆก็ตามจะต้องอยู่ภายใต้ในประกอบโรคศิลปะของนักกายภาพบำบัด อันนี้ผมเดาเอาเองว่าหลักสูตรกายภาพบำบัดของไทยก็มีการเรียนการสอนศาสตร์ของการจัดกระดูกสันหลังด้วย การที่มีระเบียบแบบนี้ออกมาน่าจะเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในการรับบริการจัดกระดูกสันหลังว่ามีผู้รู้คอยดูแลอยู่อีกขั้นหนึ่ง 

        นักจัดกระดูกจะเน้นไปที่การดัดข้อกระดูกสันหลังอย่างเดียว แต่นักกายภาพบำบัดต้องเรียนการดัดข้อต่ออื่นๆทั่วทั้งร่างกายด้วยไม่ว่าจะเป็นข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อนิ้ว ฯลฯ นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดยังได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดมาร่วมในการรักษาได้ด้วย

        ดังนั้น 1: นักกายภาพบำบัดมีความเหมือนกับนักจัดกระดูกตรงที่ได้เรียนการดัดกระดูกสันหลัง จากประสบการณ์เท่าที่รู้นักกายภาพบำบัดบางคนมีทักษะในการดัดข้อกระดูกสันหลังน้อยกว่า

        ดังนั้น 2: นักกายภาพบำบัดมีความเหมือนกับนักจัดกระดูกตรงที่อาจจะใช้การออกกำลังกายเพื่อการรักษาและการฝึกบุคลิกภาพให้มีท่าทางของ normal posture ร่วมด้วย จากประสบการณ์เท่าที่รู้นักกายภาพบำบัดจะใช้เป็นประจำ

        ดังนั้น 3: นักกายภาพบำบัดแตกต่างจากนักจัดกระดูกตรงที่ได้เรียนการดัดข้อต่อทุกข้อในร่างกาย

        ดังนั้น 4: นักกายภาพบำบัดได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดมาร่วมในการรักษาได้ด้วย ซึ่งหากนักจัดกระดูกต้องการใช้เครื่องมือเหล่านี้จะต้องส่งผู้ป่วยต่อให้นักกายภาพบำบัด


ตัวอย่างการดัดข้อไหล่ของนักกายภาพบำบัด

ตัวอย่างการดัดข้อศอกของนักกายภาพบำบัด

ตัวอย่างการดัดสะบ้าหัวเข่าของนักกายภาพบำบัด

        ถึงแม้ว่าการจัดกระดูกจะเป็นการรักษาทางเลือกแต่ก็ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์สุขภาพอีกแขนงหนึ่งที่สามารถช่วยรักษาอาการเจ็บปวดและความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง และการรักษาด้วยการจัดกระดูกยังสามารถใช้วิธีการทางกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วยก็ได้หากจะเป็นผลดีที่สุดกับผู้ป่วย ฝากไว้ในช่วงสุดท้ายนี้ ธัญญปุระสหคลินิกซึ่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ตมีบริการทั้ง 2 อย่างไว้คอยให้บริการผู้ป่วยด้วยบุคลากรมืออาชีพมากประสบการณ์


เอกสารอ้างอิง

Ernst E. Chiropractic: A Critical Evaluation. J Pain Symptom Manage 2008;35:544-562.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Sports physiotherapy management for tennis elbow and other treatment options.

Ultrasound therapy in tennis elbow treatment (Ref: https://nesintherapy.com/) Tennis elbow is degeneration of the tendons that attach to t...