นิยามของคอยื่น (forward head posture) คือลักษณะตำแหน่งของร่างกายที่ศีรษะอยู่ข้างหน้าของจุดศูนย์กลางของร่างกาย โดยใช้รูหูเป็นจุดอ้างอิงเสมือนเป็นตัวแทนตำแหน่งของศีรษะ คอยื่นทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและกระดูกต้องรับภาระมากถึง 3.6 เท่าเมื่อเทียบกับตำแหน่งร่างกายปกติซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดคอ ปวดไหล่และปวดหัวได้
ภาพขวา: ศีรษะอยู่ในแนวเส้นศูนย์กลางร่างกาย ภาพซ้าย: ศีรษะอยู่ข้างหน้าแนวศูนย์กลางร่างกาย (ภาพจาก https://www.posturedirect.com/forward-head-posture-correction/) |
ตำแหน่งของร่างกาย (Body posture) เป็นสภาวะการจัดตำแหน่งร่างกายให้มีความสมดุลโดยใช้การทำงานของกล้ามเนื้อน้อยที่สุดโดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือไม่สุขสบายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
การที่อยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่นำไปสู่ตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมเช่นไหล่งุ้มหรือคอยื่น ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดคอยื่นเช่นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือหรือทีวีหรือวีดีโอเกมส์นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง มันจึงถูกเรียกอีกชื่อว่า text posture รวมถึงการสะพายกระเป๋าเป้าที่หนักมากๆและจัดความยาวของสายสะพายไว้ไม่เหมาะสมด้วย
ภาพจาก https://sleighfamilychiropractic.com/ |
อ้างอิงกับหลักการพื้นฐานแล้วจะพบความบกพร่องของกล้ามเนื้อใน forward head posture ที่ประกอบด้วยการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ deep flexor muscle คือกล้ามเนื้อก้มคอมัดลึก ร่วมกับการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอและฐานกะโหลก
ในบทความนี้ผมจะเล่าถึงประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะคอยื่นที่มาหาผมในคลินิก โดยอาการยอดนิยมที่มาหาผมคือปวดคอ รองลงมาคือปวดไหล่ และปวดหัวร่วมด้วยน้อยที่สุด ในการซักประวัติผมจะต้องถามถึงการพบแพทย์และการ x - ray ก่อนมาพบผมด้วย ยิ่งมีเอกสารจากแพทย์มาด้วยยิ่งดีมากเลย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา รวมถึงถามการเคลื่อนไหวที่ทำให้มีอาการปวดเพิ่มขึ้นและที่ทำให้อาการปวดลดลง
หลังจากซักประวัติการก็เริ่มการดูตำแหน่งร่างกาย (posture) ทั้งด้านหลัง ด้านข้าง และด้านหน้า ในกรณีภาวะคอยื่นจะเห็นชัดเมื่อดูจากด้านข้างร่วมกับการใช้เส้นกลางของไม้บรรทัดวัดมุม (goniometer) ทาบกับแนวเส้นศูนย์กลางของร่างกายด้วย แต่หากเป็นการตรวจร่างกายในงานวิจัยบางชิ้นจะทำการวัดระยะทางที่คอยื่นไปข้างหน้าด้วย โดยส่วนมากเรามักจะพบหลังส่วนบนค่อมด้วยแปลว่าในผู้ป่วยบางรายจะพบหลังส่วนบนอยู่ในแนวศูนย์กลางเป็นปกติ
จากนั้นทำการดูมุมการเคลื่อนไหวของคอในทิศทางก้มหน้า เงยหน้า เอียงคอซ้ายขวา หันหน้าซ้ายขวา และการขยับให้ศีรษะกลับมาอยู่ในแนวศูนย์กลาง ทั้งให้ผู้ป่วยทำเองและผมเป็นคนจับศีรษะคนไข้เคลื่อนที่ไปเพื่อดูความตึงของกล้ามเนื้อและคุณภาพการเคลื่อนไหวของคอ เพราะอาจจะมีปัจจัยเรื่องคอเสื่อมและความบกพร่องข้อต่อกระดูกคอร่วมด้วยก็ได้ ในบทความนี้ขออนุญาตเล่าถึงคอยื่นแบบไม่มีภาวะแทรกซ้อนครับ อาการตึงตัวของกล้ามเนื้อมักพบจุดกดเจ็บร่วมด้วย จุดกดเจ็บเหล่านี้เรามักชอบให้นวดซึ่งให้ความรู้สึกทั้งสบายและสะใจดี
เมื่อได้ข้อมูลมากพอสมควรแล้วก็เริ่มการรักษาด้วยการนวดกล้ามเนื้อที่มีความตึงตัวซึ่งผมจะเน้นนวดที่กล้ามเนื้อฐานกะโหลกและกล้ามเนื้อคอด้านหน้า
หมายเหตุตัวโตๆไว้ว่าการนวดกล้ามเนื้อคอด้านหน้าต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากบวกกับความแม่นยำในวิชากายวิภาคศาสตร์ หากพลาดพลั้งไปก็จะนวดไปโดนเส้นเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองและเส้นประสาทอื่นๆแล้วทำให้เกิดอาการที่น่ากลัวต่างๆตามมาได้ ดังนั้นผู้อ่านไม่ควรไปนวดเองอย่างเด็ดขาดแต่สามารถนวดกล้ามเนื้อฐานกะโหลกได้
หลังจากที่กล้ามเนื้อเริ่มนิ่มลงไปบ้างก็จะทำการยืดกล้ามเนื้อรอบๆคอให้ผู้ป่วยดังต่อไปนี้
1. การยืดกล้ามเนื้อคอด้านหลัง: ผมอยู่ด้านหลังผู้ป่วยที่อยู่ในท่านั่ง ใช้มือ 2 ข้าง กอดหัวผู้ป่วยแล้วดึงเข้าหาตัว จากนั้นเอียงศีรษะผู้ป่วยให้หูไปหาไหล่ ในแต่ละข้างทำค้างไว้ 30 วินาที 3 - 5 ครั้ง
ภาพจาก https://learnmuscles.com/ |
2. การยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง: ผมอยู่ด้านหลังผู้ป่วยที่อยู่ในท่านั่ง ใช้มือจับศีรษะผู้ป่วยเอียงให้หูไปหาไหล่ ในแต่ละข้างทำค้างไว้ 30 วินาที 3 - 5 ครั้ง
ภาพจาก https://www.mmhealth.org/ |
3. การยืดกล้ามเนื้อคอด้านหน้า: ผมอยู่ด้านหลังผู้ป่วยที่อยู่ในท่านั่ง ใช้มือจับให้ผู้ป่วยเงยหน้าประมาณ 50% ของระยะทางที่เงยได้ จากนั้นเอียงศีรษะผู้ป่วยให้หูไปหาไหล่ ในแต่ละข้างทำค้างไว้ 30 วินาที 3 - 5 ครั้ง
ท่านี้ต้องใช้ความระมัดระวังและสังเกตอาการมากเพราะหากผู้ป่วยมีความผิดปกติของกระดูกคอและเส้นประสาทก็ทำให้มีอาการแย่ลง หรือถ้าเส้นเลือดที่พาดผ่านไปทางด้านหลังชื่อว่า Vertebral artery ซึ่งขึ้นไปเลี้ยงสมองถูกกดในการทำท่านี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการเจ็บป่วยอย่างอื่นเพิ่มขึ้น
ภาพจาก http://www.440chiro.com/ |
เส้นสีแดงแสดงถึง vertetral artery (ภาพจาก https://neurovascularmedicine.com/) |
4. การยืดกล้ามเนื้อฐานกะโหลก: ผมอยู่ด้านหลังผู้ป่วยที่อยู่ในท่านั่ง ใช้มือ 2 ข้างกอดหัวผู้ป่วยแล้วดึงเข้าหาตัว ทำค้างไว้ 30 วินาที 3 - 5 ครั้ง (เป็นทิศทางเดียวกับ chin tuck exercise)
ปิดท้ายด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อก้มคอมัดลึกด้วยวิธีการที่เรียกว่า Chin tuck exercise ถึงแม้ว่าเราจะออกกำลังที่กล้ามเนื้อก้มคอแต่เราจะไม่ก้มคอกันเลย หากออกกำลังกายท่านี้แล้วมองเห็นเท้าตัวเองถือว่าทำผิด การออกกำลังกายท่านี้จะใช้การเคลื่อนไหวด้วยการสไลด์คางไปด้านหลัง หรืออาจจะเรียกว่าเบ่งเหนียงก็ได้ การเคลื่อนไหวแบบนี้จะยังทำให้แนวสายตามองไปข้างหน้าจึงทำให้มองไม่เห็นเท้า ผมมักจะให้ผู้ป่วยค้างท่าไว้ประมาณ 3 - 5 วินาทีในแต่ละครั้ง ทำ 15 ครั้งต่อเซต จำนวน 3 เซต ในการทำครั้งแรกๆผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกเมื่อยคอ บ่า หรือฐานกะโหลกได้ ก็ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ
ภาพ Chin tuck exercise (ภาพจาก https://www.citybathssportsmedicine.com/) |
ที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงเครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพบำบัดเลยเพราะว่าผมมองว่าโดยพื้นฐานแล้วมันเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวหรือเรียกว่า mechanic pain หากไม่มีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือมีอาการอักเสบร่วมด้วยผมก็จะไม่ใช้เครื่องมือไฟฟ้าเลย ส่วนอุปกรณ์รัดหลังส่วนบนจะช่วยหรือไม่นั้นผมตอบค่อนข้างยากเพียงแต่บอกได้ประมาณว่าถ้าใส่ก็ดี "it nice to have" แต่ไม่ใส่ก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายร่างกายก็ต้องพึ่งตัวเอง
ก่อนกลับก็จะให้การบ้านผู้ป่วยไปทำที่บ้านด้วยเพื่อให้ได้ผลการรักษาต่อเนื่องและลดระยะเวลามาทำกายภาพบำบัดประกอบด้วยการยืดกล้ามเนื้อทั้งหมดที่ทำไปและ chin tuck exercise วันละ 100 ครั้ง (วันละแปลว่าภายใน 8 - 12 ชั่วโมงที่ผู้ป่วยตื่นนอน) แล้วที่สำคัญคือการสร้างนิสัยให้เคยชินกับตำแหน่งศีรษะอันใหม่ที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์กลางร่างกาย
ภาพซ้าย: Poor posture ภาพขวา: Good posture
(ภาพจาก https://vancouverbackpain.com/anterior-head-carriage/)ภาพซ้าย: Poor posture ภาพขวา: Good posture
(ภาพจาก https://th.wukihow.com/wiki/Relax-Your-Sternocleidomastoid)
ภาวะคอยื่นใช้ระยะเวลาในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป บางรายที่สภาพดีๆหน่อยก็ใช้เวลา 1 - 2 ครั้ง แต่บางรายที่ต้นทุนร่างกายมาน้อยก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนเลยก็มี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้มีคอยื่นจะเป็นการช่วยถนอมกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อบริเวณคอได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น